งานวิจัยนี้เป็นการหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการศูนย์กระจายสินค้าไทยในต่างประเทศ และการตัดสินใจจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า โดยเลือกทำการศึกษาจากกลุ่มผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าไทยใน 5 อันดับแรกของประเทศ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และยางพารา ไปยังประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน 10 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย อังกฤษ เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา ผลจากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้ส่งออกในการตัดสินใจใช้บริการศูนย์กระจายสินค้าไทยในต่างประเทศคือ ด้านการคาดการณ์ของมูลค่าการส่งออกในอนาคต และผู้ส่งออกยังให้ความสำคัญกับเรื่องของราคาในการเข้าไปใช้บริการมากที่สุด อีกทั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยที่ผู้ส่งออกต้องการให้เข้าไปจัดตั้งในต่างประเทศมากที่สุดคือ ในประเทศจีน รองลงมาคือประเทศอินเดีย โดยควรเป็นความร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชน และต้องมีบริการด้านการกระจายสินค้า การทำเอกสารการส่งออก และการรับประกันความเสียหายของสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
บทความนี้ ว่าด้วยการค้นหาโอกาสค้ากำไรในตลาดเงินตราต่างประเทศ วิธีดั้งเดิมที่ใช้ในการบ่งชี้โอกาสค้ากำไรนั้น อาจมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อจำนวนสกุลเงินที่เราพิจารณาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ในการค้นหาเส้นทางค้ากำไรที่ประกอบไปด้วยสกุลเงินหลายสกุล หม่า (2004) ได้พัฒนาวิธีเมตริกซ์ที่มีประสิทธิภาพในการค้นหาเส้นทางการค้ากำไรในตลาดที่ประกอบไปด้วยสกุลเงิน N สกุล หม่า ยังได้ค้นพบเงื่อนไขเพียงพอสำหรับการมีอยู่ของโอกาสค้ากำไรด้วย โดยที่งานของหม่า มีพื้นฐานอยู่บนสมมติฐานที่ว่านักค้ากำไรสามารถซื้อและขายเงินตราแต่ละสกุลที่ราคาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ส่วนต่างราคาเสนอซื้อขายถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของค่าใช้จ่ายในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น เราควรคำนึงถึงส่วนต่างราคาเสนอซื้อขายในขั้นตอนการค้นหาเส้นทางค้ากำไรด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนปรับเปลี่ยนวิธีเมตริกซ์ของหม่า เพื่อที่จะรองรับกรณีที่ส่วนต่างราคาเสนอซื้อขายไม่เป็นศูนย์ หลังจากนั้น บทความนี้ยังแสดงขั้นตอนการประยุกต์วิธีนี้ โดยมีข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน 65 วันเป็นกรณีตัวอย่าง โดยมีข้อสังเกตว่า เงื่อนไขเพียงพอที่ถูกค้นพบในงานของหม่านั้น ยังคงใช้ได้อยู่แม้กระทั่งในกรณีที่ส่วนต่างราคาเสนอซื้อขายไม่เป็นศูนย์
บทสรุปที่ว่า การควบรวมกิจการ (acquisitions) โดยปกติแล้วทำลายความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้ซื้อนั้นถูกดึงมาจากการพบเห็นการควบรวมที่บริษัทผู้ขายได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงการประกาศเสนอการควบรวมนั้นอย่างดีที่สุดผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้ซื้อจะเสมอตัว (break-even) และบ่อยครั้งที่สูญเสียความมั่งคั่ง แต่ทว่าประมาณร้อยละ 80 ของการควบรวมกิจการในตลาดซื้อขาย อำนาจในการควบคุมกิจการที่มีความตื่นตัวมากที่สุดในโลกนั้น บริษัทผู้ขายไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในการวิเคราะห์การควบรวมกิจการของบริษัทผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น งานวิจัยในระยะหลังๆพบอย่างสม่ำเสมอว่า บริษัทผู้ซื้อได้กำไรเหนือระดับปกติอย่างมากและอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งตรงกันข้ามกับผลกระทบต่อมูลค่าจากการควบรวมกิจการของบริษัทที่ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลักฐานงานวิจัยพวกใหม่ที่สอดคล้องกันนี้ แม้ว่าจะเพิ่งเกิดใหม่ ก็เป็นการเรียกถามความน่าเชื่อถือขององค์ความรู้เดิมที่มีเกี่ยวกับการตัดสินใจทำการควบรวมกิจการ และชี้ถึงความจำเป็นในการหาคำอธิบายอื่นๆสำหรับผลกระทบต่อมูลค่าจากการทำการควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตามหลักฐานงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อความมั่งคั่งขั้นท้ายสุดจากการควบรวมกิจการของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีเพียงเบาบางและห่างไกลจากการนำมาเป็นข้อสรุปได้ การเรียนรู้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการของบริษัทผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นอย่างต้องดำเนินต่อไปอีกมาก
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการรับรู้ การยอมรับของผู้บริโภค และปัจจัยที่มีผลต่อการนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Tracebility System) สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ในประเทศไทย โดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 500 คนในเขตกรุงเทพมหานคร ผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับมีความสัมพันธ์กับระดับความถี่ในการซื้อเนื้อสัตว์จากซุปเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นว่าระบบการตรวจสอบย้อนกลับช่วยให้สามารถเลือกซื้อเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น และมีความเห็นว่าควรซื้อเนื้อสัตว์ที่มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับมากกว่าเนื้อสัตว์ที่ไม่มีระบบการตรวจสอบ ผลจากการวิจัยช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถตัดสินใจนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยในการบริโภคเนื้อสัตว์ของผู้บริโภคในประเทศไทยต่อไป
งานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมการซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอดีตส่วนใหญ่จะให้ความสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความตระหนักในสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคกับความตั้งใจในการซื้อสินค้า หากแต่ผลการศึกษาเหล่านั้นยังไม่ได้มีความสอดคล้องตรงกัน งานวิจัยชิ้นนี้จึงทำการศึกษาอิทธิพลของความตระหนักในสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อทัศนคติและความตั้งใจซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มเติมปัจจัยด้านการรับรู้ในคุณลักษณะของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแบบจำลองสำหรับการศึกษาด้วย ผลของการศึกษาพบว่า ความตระหนักในสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อความตั้งใจซื้อสินค้า หากแต่มีผลกระทบทางอ้อมต่อความตั้งใจซื้อสินค้าผ่านการรับรู้ในคุณลักษณะของสินค้าและทัศนคติที่มีต่อสินค้า ส่วนการรับรู้ในคุณลักษณะของสินค้าจะมีผลกระทบต่อความตั้งใจซื้อสินค้าทั้งในทางตรง และในทางอ้อมผ่านทัศนคติที่มีต่อสินค้า ผลของการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องให้ความใส่ใจกับคุณลักษณะของสินค้าโดยรวม และพยายามสื่อสารสิ่งเหล่านี้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายมากกว่าการให้ความสนใจแต่เพียงการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่สินค้าและบริษัท