การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของปัจจัยพัฒนาการพัฒนาองค์กรตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อองค์กรที่เป็นเลิศต่อประสิทธิผลองค์กร สถิติที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ของตัวแปร (Correlation Matrix Analysis) เพื่อหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร และเพื่อวิเคราะห์ภาวะร่วมเส้นตรงพหุ (multicollinearity) ของตัวแปร ผลการศึกษาพบว่าตัวแปรเกณฑ์รางวัลคุณภาพทุกตัวมีความสัมพันธ์กับตัวแปรประสิทธิผลองค์กรรวมทั้งตัวแปรอิสระของข้อมูลชุดนี้ไม่มีปัญหาภาวะร่วมเส้นตรงพหุ (multicollinearity) และ การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นตรงแบบพหุ (Multiple Regression Analysis) ผลการศึกษาพบว่า ตัวแปรด้านเกณฑ์รางวัลคุณภาพสองตัวแปรได้แก่ การนำองค์กรและการวางแผนเชิงกลยุทธ์มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลองค์กรทั้งสองด้านในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลจากการศึกษาครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรในด้านการพัฒนาผู้นำ และการวางแผนเชิงกลยุทธ์
บทความนี้ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพด้านต้นทุนของธนาคารในเอเชีย และความสัมพันธ์ของรูปแบบขององค์กรที่มีต่อประสิทธิภาพด้านต้นทุนของธนาคารในช่วงเวลาภายหลังวิกฤตการณ์ทางการธนาคาร โดยได้ทำการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ถึง 2551 การศึกษาในครั้งนี้ได้ทำการเปรียบเทียบการประมาณค่าประสิทธิภาพด้านต้นทุนของธนาคารโดยใช้เครื่องมือเส้นพรมแดนประสิทธิภาพ 2 ชนิดที่เรียกว่า Data Envelopment Analysis และ Stochastic Frontier Analysis วิธีการศึกษาเริ่มต้นจากการสร้างเส้นพรมแดนประสิทธิภาพด้านต้นทุนของธนาคารใน 5 ประเทศ ตลอดระยะเวลา 12 ปี จากนั้นจึงทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพด้านต้นทุนของธนาคารต่างๆ กับธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และทำการทดสอบความสัมพันธ์ของประสิทธิภาพกับรูปแบบขององค์กร ผลการศึกษาพบว่าแม้ว่าเครื่องมือทั้งสองชนิดให้ผลการประมาณการประสิทธิภาพแตกต่างกัน แต่ผลจากเครื่องมือทั้งสองให้ความเชื่อมั่นทางสถิติว่า รูปแบบขององค์กรมีความสัมพันธ์ต่อประสิทธิภาพด้านต้นทุนของธนาคารทั้งในด้านบวกและลบ โดยธนาคารที่ถูกควบรวมมีประสิทธิภาพด้านต้นทุนสูงกว่าธนาคารที่ไม่ได้ควบรวม ในขณะที่ธนาคารที่ถูกควบรวมโดยธนาคารต่างประเทศ และธนาคารที่ถูกรัฐเข้าควบคุม จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าธนาคารที่ไม่ได้ถูกควบคุม นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือวัดประสิทธิภาพเชิงเส้นพรมแดนกับอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการวัดประสิทธิภาพกันโดยทั่วไป
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการพยากรณ์และความสามารถของราคาหลักทรัพย์ในการสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับกำไรและกระแสเงินสดในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างได้แก่กิจการที่เปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงานดำเนินงานอย่างน้อย 2 ส่วนงานระหว่างปี 2541-2549 ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าภายหลังจากกิจการเปิดเผยข้อมูลส่วนงานดำเนินงานเพิ่มเติมภายใต้มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 ความสามารถในการพยากรณ์และความสามารถของราคาหลักทรัพย์ในการสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับกำไรและกระแสเงินสดในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น หลักฐานเชิงประจักษ์โดยรวมสอดคล้องกับความคาดหวังว่าความสามารถของราคาหลักทรัพย์ในการสะท้อนผลการดำเนินงานในอนาคตเป็นผลจากข้อมูลจำแนกตามส่วนงานดำเนินงานที่ช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักลงทุนในการสร้างความคาดหวังเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในอนาคต การวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่ากำไรในปัจจุบันมีความสามารถในการพยากรณ์กระแสเงินสดได้ดีขึ้นสำหรับกิจการที่ให้ข้อมูลส่วนงานดำเนินงานตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับกิจการที่ให้ข้อมูลตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 24 แต่ไม่พบความแตกต่างในความสามารถของราคาหลักทรัพย์ในการสะท้อนผลการดำเนินงานในอนาคตที่แตกต่างกันระหว่างกิจการที่ให้ข้อมูลส่วนงานดำเนินงานตามแนวปฏิบัติในมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 และฉบับที่ 24
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลการประเมินการบริหารความเสี่ยงของรัฐวิสาหกิจไทย จำนวน 55 แห่ง ที่มีการเปิดเผยข้อมูลผลการประเมินในระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ โดยเก็บข้อมูลคะแนนผลการประเมินการบริหารความเสี่ยงและข้อมูลงบการเงินระหว่างปี 2547-2552 การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผลการประเมินการบริหารความเสี่ยงและผลการดำเนินงานทางการเงินพบว่า ผลการประเมินการบริหารความเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับขนาดองค์กร และกำไรจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังพบความแตกต่างของผลการประเมินดังกล่าวระหว่างกลุ่มสาขารัฐวิสาหกิจ
งานวิจัยนี้ศึกษาปัญหาการจัดสรรงานให้แก่ผู้ให้บริการขนส่งภายนอกของบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจจัดตั้งศูนย์กลางการบริหารการขนส่ง(Transportation Management Center) ของบริษัท วิธีวิจัยใช้การสำรวจข้อมูลรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าของแต่ละแผนก พื้นที่ให้บริการ โครงสร้างอัตราค่าบริการขนส่งของผู้ให้บริการขนส่งแต่ละราย และค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ให้บริการขนส่งของเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2552 ร่วมกับการพัฒนาแบบจำลองเชิงเส้นตรง (Linear Programming) สำหรับวิเคราะห์รูปแบบการจัดสรรลูกค้าแก่ผู้ให้บริการขนส่งภายนอกภายใต้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยจำแนกการวิเคราะห์ออกเป็นสองส่วนตามขนาดของรถ ได้แก่ รถขนาดเล็ก 4 ล้อ และ รถขนาดใหญ่ 6 ล้อ หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์ต้นทุนค่าขนส่งจากการจัดสรรงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ผลการวิเคราะห์พบว่าการจัดตั้งศูนย์กลางการบริหารผู้ให้บริการขนส่งภายนอกของบริษัทและจัดสรรงานแก่ผู้ให้บริการขนส่งภายนอกโดยใช้รูปแบบของปัญหาการขนส่ง สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของเดือนมีนาคมลงได้ประมาณร้อยละ 13.73
ปัจจุบันในการจัดการให้มีประสิทธิผลนั้น ธุรกิจมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการวัดผล หนึ่งในปัจจัยที่จะประสบความสำเร็จได้คือการพิจารณาตัวชี้วัดที่เหมาะสมที่จะถูกประเมิน วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือการเปรียบเทียบระบบการวัดผลทางโลจิสติกส์ของสองอุตสาหกรรมได้แก่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเหล็กโดยใช้การวิเคราะห์ความแตกต่างๆระหว่างความสำคัญและความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยตัวชี้วัดจะแบ่งตามกิจกรรมหลักของโลจิสติกส์อันประกอบไปด้วยการให้บริการลูกค้า สินค้าคงคลัง การจัดหา การขนส่งและคลังสินค้า การเก็บรวมรวบข้อมูลตามตัวแบบที่ได้มีการนำเสนอจะส่งไปยังบริษัทในอุตสาหกรรมดังกล่าว ผลของการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมควรจะมุ่งเน้นในตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ระบบตัวชี้วัดควรจะมีการนำเสนอให้ตรงกับแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อที่จะปรับปรุงการทำงานของบริษัท