ในอดีต ระบบการควบคุมทางการบริหาร รวมถึงระบบการควบคุมทางการบัญชี มักจะถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรม ทั้งนี้เนื่องจากการกำหนดมาตรฐานอย่างเป็นทางการของระบบการควบคุมทางการบริหารมักจะถูกมองว่าไปขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ และพฤติกรรมการยอมรับความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรม แต่อย่างไรก็ตาม บทความนี้แสดงให้เห็นว่าหากมีการออกแบบและใช้งานอย่างเหมาะสม ระบบการควบคุมทางการบริหารจะมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะสามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมซึ่งมีความไม่แน่นอนที่ยากที่จะคาดการณ์ได้ บทความนี้เสนอแนวความคิดของโรเบิร์ต ไซมอน เกี่ยวกับคานทั้งสี่ของการควบคุมเพื่อให้ผู้บริหารพิจารณาในการออกแบบและใช้ระบบการควบคุมทางการบริหารต่างๆ หากผู้บริหารสามารถผสมผสานการควบคุมทั้งสี่ประเภทได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นทางการขององค์กรและวัฒนธรรมองค์กรได้นั้น องค์กรจะสามารถสร้างระบบการควบคุมทางการบริหารในรูปแบบที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับต่าง ๆ อ้างถึงการวัดมูลค่ายุติธรรมขององค์ประกอบต่างๆ ของงบการเงิน โดยไม่มีนิยามที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและและไม่มีความสม่ำเสมอกับหลักการวัดมูลค่าที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น ในปี ค.ศ. 2011 คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศจึงออกมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 13 เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรมขึ้นเพื่อกำหนดนิยามและหลักการวัดมูลค่ายุติธรรม แต่นิยามและหลักการวัดมูลค่าที่กำหนดขึ้นอาจก่อให้เกิดความไม่สม่ำเสมอในการนำหลักการวัดมูลค่าไปถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่นที่อ้างถึงมูลค่ายุติธรรม บทความนี้กล่าวถึงปัญหาเชิงทฤษฎีและในเชิงปฏิบัติในการประยุกต์นิยามและหลักการวัดมูลค่ายุติธรรมตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
ในสภาวะแวดล้อมธุรกิจปัจจุบัน เป็นที่ตระหนักดีว่าการจัดหาเชิงกลยุทธ์เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน(Competitive Advantage)โดยการช่วยลดต้นทุนรวมและช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสร้างตัวแบบขั้นตอนการจัดหาเชิงกลยุทธ์แบบบูรณาการสำหรับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน โดยสร้างจากการศึกษาทฤษฎีการจัดหาเชิงกลยุทธ์ เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องรวมถึงแนวปฏิบัติอันดีเยี่ยม ในการศึกษานี้ตัวแบบขั้นตอนการจัดหาเชิงกลยุทธ์ที่สร้างขึ้นได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันว่าสามารถใช้ได้จริงกับธุรกิจโดยการสัมภาษณ์บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ผลจากการนำตัวแบบขั้นตอนการจัดหาเชิงกลยุทธ์ไปประยุกต์ใช้จริงกับบริษัทโรงกลั่นน้ำมันที่เลือกศึกษาพบว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนรวมที่ต่ำลงในการจัดหาสินค้าและบริการสำหรับสินค้า Process Instrumentation บทสรุปของการศึกษานี้สามารถกล่าวได้ว่าการสร้างแนวทางและขั้นตอนการจัดหาเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนทำให้บริษัทได้ประโยชน์ในการปรับปรุงวิธีการจัดหาอย่างเป็นระบบและการลดต้นทุนโดยรวม
งานวิจัยนี้สำรวจการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทและการประเมินเพื่อแยกแยะบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลการสำรวจโดยการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพจากประชาชนจำนวน 471 คน ที่อาศัยและทำงานอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนให้คำนิยามความรับผิดชอบครอบคลุมถึง ?ความสามารถในการทำตามหน้าที่? และ ?การเผื่อแผ่ช่วยเหลือ? ดังนั้น บริษัทที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมต้องสามารถทำตามหน้าที่ได้เป็นอย่างดีและต้องแสดงความรับผิดชอบหากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลในทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการกระทำของบริษัทนั้น ๆ นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงถูกคาดหวังจากสังคมให้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม อย่างไรก็ดีกิจกรรมเพื่อสังคมที่ได้รับการยอมรับต้องส่งผลที่เป็นรูปธรรมและได้ทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน การตอบแทนสังคมโดยการบริจาคอาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญแต่ไม่ใช่เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับบริษัทที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม การวิเคราะห์ผลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงระดับความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่รับผิดชอบมากไปจนถึงไร้ความรับผิดชอบทำให้คำนิยามของคำว่า ?ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท? มีชัดเจนในเชิงปฏิบัติการ มีผลต่อการวางแผนและการทำงบประมาณของกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ดี งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยประมวลผลข้อมูลเชิงคุณภาพในภาษาไทยอีกด้วย
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากรอบแนวคิดสำหรับประเมินความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (e-Readiness) ในบริบทของ e-ASEAN และทำการประเมินความพร้อมของประเทศไทยว่ามีความพร้อมในการเป็นผู้นำ e-ASEAN เมื่อเทียบกับความพร้อมของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนหรือไม่ ผลการ วิจัยพบว่า หลายสถาบันได้ประเมินความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่มีความพร้อมต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยถูกจัดลำดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในบางดัชนีที่ต่ำกว่าประเทศบรูไน (อาทิเช่น Electronic Government Development Index, Networked Readiness Index, Global Competiveness Index) ผลการ ศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยยังมีประเด็นที่จะต้องรีบดำเนินการปรับปรุงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย