โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มออมทรัพย์ตามรูปแบบของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่จังหวัดตราด ใน 2 มิติ คือความยั่งยืนทางการเงิน (Financial Sustainability) และความยั่งยืนในการบริหารงานที่เกิดจากภาวะผู้นำ (Leadership Sustainability) การประเมินความยั่งยืนทางการเงิน ประยุกต์จากการศึกษาของ Gokhale และ Smetters (2003) ซึ่งพิจารณาจาก Infinite Horizon Fiscal Imbalance (FI) ประกอบกับเงื่อนไขที่กองทุนสวัสดิการจะไม่ขาดกระแสเงินสดในอนาคต ในส่วนของบทบาทผู้นำที่จะสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการมีกรอบในการประเมิน 4 ประเด็นตาม Center for Excellence in Leadership (2007) ได้แก่ การมุ่งเน้นความสำเร็จ (Focus to Achieve) การสร้างผลกระทบ (Mobilize to Impact) การสร้างแรงผลักดันให้ยั่งยืน (Sustain Momentum) และมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Passion for Excellence) ผลการประเมินความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการชุมชนตัวอย่าง พบว่า กองทุนดังกล่าวสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนทางการเงินถ้าอัตราการหาผลประโยชน์ของกลุ่มออมทรัพย์เกินร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สามารถทำได้ สำหรับความยั่งยืนด้านการจัดการจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีการสร้างกลไกการบริหาร มีคณะกรรมการ บริหาร มีกฎระเบียบในการปฏิบัติงาน ซึ่งควรเป็นรูปแบบที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องระยะยาว ไม่ยึดติดในตัวบุคคล สรุปโดยรวมแล้ว การบริหารสวัสดิการของชุมชน ที่ใช้การสนับสนุนของกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวสามารถที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน และเป็นรูปแบบที่ควรได้รับการสนับสนุนเนื่องจากจะช่วยให้ชุมชนมีความเข็มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 กำหนดกรอบความร่วมมือทางด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างอุตสาหกรรมในทั้งสองประเทศ ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์คือ เพื่อเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีของฝ่ายไทยผ่านการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีและการจัดการจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้รับการถ่ายทอดได้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเทคโนโลยีนั้นมีองค์ประกอบของความรู้ซ่อนเร้น (Tacit Knowledge) ที่ขึ้นกับประสบการณ์และฝังอยู่ในตัวบุคคลหรือองค์กรเจ้าของความรู้และเทคโนโลยี มากกว่าความรู้เด่นชัด (Explicit Knowledge) ที่เป็นข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารต่างๆ การถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีลักษณะนี้จำเป็นต้องมีขั้นตอนการแปลงและถ่ายทอดความรู้ที่ชัดเจนเป็นระบบและเป็นรูปธรรม บทความฉบับนี้ ต้องการนำเสนอปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของการถ่ายทอด ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย และนำเสนอตัวอย่างขั้นตอนการแปลงความรู้ซ่อนเร้นของเจ้าของเทคโนโลยีเป็นความรู้ซ่อนเร้นของผู้รับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนไทยควรจะให้ความสำคัญอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกรอบความร่วมมือในความตกลง JTEPA ให้ได้มากที่สุด
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถของส่วนประกอบของกำไรสุทธิได้แก่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและรายการคงค้างในการอธิบายราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของความสามารถของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและรายการคงค้างในการอธิบายราคาหลักทรัพย์ โดยใช้ขอมูลของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 17 กลุ่มธุรกิจจาก 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึง 2549 (ก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นมาตรฐานการบัญชีไทย (ฉบับปรับปรุง 2550)) จากการวิจัยพบว่าทั้งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและรายการคงค้างนั้นสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ได้ ทั้งนี้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะมีความสามารถส่วนเพิ่มในการอธิบายราคาหลักทรัพย์ได้มากกว่ารายการคงค้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึง 2549 เนื่องจากสาเหตุหลักคือ 1) กำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินงานหลักมาก 2) สินทรัพย์มาก 3) อัตราการเติบโตของกำไรสูง และ 4) ความผันผวนของกำไรสูง
การบัญชีต้นทุนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 19 โดยวิวัฒนาการการบัญชีต้นทุนเกิดจากความต้องการเกี่ยวกับข้อมูลต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีสมัยใหม่และความต้องการข้อมูลเชิงบริหารทำให้ข้อมูลการบัญชีต้นทุนในปัจจุบันมีประโยชน์มากกว่าการนำเสนอข้อมูลต้นทุนผลิตภัณฑ์ในงบการเงินเพียงอย่างเดียว วิวัฒนาการการบัญชีต้นทุนนั้นได้เริ่มจากระดับแรกที่ไม่มีการจดบันทึกข้อมูลต้นทุนที่เพียงพอ จนถึงระดับสูงสุดในปัจจุบันที่สามารถนำข้อมูลต้นทุนไปใช้ในการพยากรณ์ทรัพยากรหรือจำลองสถานการณ์เพื่อวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้ บทความนี้ได้วิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละระดับของการบัญชีต้นทุน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความต้องการใช้ข้อมูลในแต่ละองค์กร
การศึกษานี้ทดสอบคุณสมบัติในการป้องกันความเสี่ยง (hedging) และคุณสมบัติในการเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (safe haven asset) ของโลหะมีค่าในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความผันผวนสูงและในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยใช้ข้อมูลรายวันของผลตอบแทนดัชนี SET 50 total return index และผลตอบแทนรายวันของทองคำ โลหะเงิน และแพลทินัมในรูปสกุลเงินบาท ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2002 จนถึง วันที่ 6 มิถุนายน 2012 และใช้แบบจำลอง GARCH (1,1) ในการทดสอบความสัมพันธ์ ผลการศึกษาพบว่าทองคำมีคุณสมบัติป้องกันความเสี่ยงอย่างอ่อน (weak hedge) ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา นอกจากนี้การศึกษาพบว่าในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความผันผวนสูงเกินกว่า 1 เปอร์เซนต์ไทล์และในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกจากวิกฤตอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2008 ทองคำมีคุณสมบัติเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการลงทุนอย่างอ่อน (weak safe haven asset) ในขณะที่แร่โลหะเงินและแพลทินัมไม่มีคุณสมบัติในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว ในช่วงเวลาอื่นที่ทำการศึกษาพบว่าทองคำไม่มีคุณสมบัติเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการลงทุนในขณะที่แร่โลหะเงินและแพลทินัมไม่มีคุณสมบัติเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยในการลงทุนในทุกช่วงเวลาที่ทำการศึกษา
บทความนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรีทางการบัญชีของประเทศไทยและประเทศที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์สภาวิชาชีพบัญชี ที่มุ่งเน้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้เพื่อสะท้อนถึงสมรรถนะทางวิชาชีพของนักบัญชีมากกว่าการประเมินความครบถ้วนในสาระของความรู้ตามมาตรฐานการศึกษาทางการบัญชีสากลฉบับที่ 2 ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร และให้ผู้สอนได้ปรับตัวในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อสร้างนักบัญชีในอนาคตที่มีสมรรถนะเชิงเทคนิคด้านวิชาชีพ (Technical Competence) พร้อมต่อการแข่งขันในการประกอบวิชาชีพบัญชีทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงกลยุทธ์ในการสร้างตราสถานที่ โดยใช้เขตบางรัก เป็นกรณีศึกษา ซึ่งกลยุทธ์การสร้างตราสถานที่นั้นประกอบไปด้วย เอกลักษณ์ของเขตบางรัก คุณค่าที่ลูกค้าต้องการด้านการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของเขตบางรัก แหล่งข้อมูลข่าวสาร โลโก้และคำขวัญ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติที่มีผลต่อคุณค่าลูกค้าด้านการท่องเที่ยว ต่อการประเมินอิทธิพลของแหล่งข้อมูลข่าวสาร และต่อการประเมินภาพลักษณ์ของสถานที่ ซึ่งผลวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในการสร้างตราสถานที่ให้ยั่งยืนและแข็งแรงเพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวยังสถานที่นั้นๆ มากขึ้น