บทคัดย่อ เนื่องจากประชากรกลุ่มเบบี้บูมได้ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณอายุมากขึ้น ส่งผลให้ความสนใจของนักการตลาดได้เปลี่ยนไปโดยมุ่งตรงไปยังกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และกลุ่มเบบี้บูมตอนปลาย ซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 40 ถึง 50 ปีมากขึ้น ด้วยความแตกต่างของรูปแบบการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมที่คนเหล่านี้มีเมื่อเทียบกับกลุ่มเบบี้บูม ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่ออธิบายพฤติกรรมการบริโภคในอนาคตของพวกเขาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยามที่พวกเขาเข้าสู่วัยเกษียณอายุ ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์นำแนวคิดรูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาใช้ในการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ อันจะช่วยให้สามารถเข้าใจความคิดและความชื่นชอบของกลุ่มคนเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้นกว่าการแบ่งกลุ่มประชากรโดยใช้เกณฑ์ด้านประชากรศาสตร์เพียงอย่างเดียว จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 600 ตัวอย่าง ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์จำแนกกลุ่มแบบ 2 ขั้น ได้ผลว่าสามารถแบ่งกลุ่มกลุ่มตัวอย่างออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก และ 14 กลุ่มย่อย โดยกลุ่มตัวอย่าง 5 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มพนักงานบริษัท กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้มีธุรกิจส่วนตัว กลุ่มครอบครัวตัวอย่าง และกลุ่มรักสันโดษ โดยกลุ่มตัวอย่างแต่กลุ่มมีการให้ความสำคัญในรูปแบบการบริโภคเกี่ยวกับด้านสุขภาพมากเป็นอันดับที่หนึ่ง รองลงมาคือ ด้านที่พักอาศัย ด้านเศรษฐกิจ ด้านจิตใจ และด้านการใช้เวลาว่าง ตามลำดับ ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้สามารถช่วยเสนอแนะแนวทางการทำการตลาด และการจัดการด้านต่าง ๆ ได้
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำกลยุทธ์โลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้ในธุรกิจผู้ส่งออกข้าวไทย และผลกระทบของการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวต่อระดับความพอใจในผลการดำเนินงานทั้งด้านผลตอบแทนทางการเงินและต้นทุน โดยประชากรที่ศึกษาคือผู้ประกอบการธุรกิจขายส่งข้าวและผลิตภัณฑ์จากโรงสีข้าวที่มีรายชื่ออยู่ในรายชื่อผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่าง 150 บริษัทพบว่าในภาพรวมนั้นธุรกิจในอุตสาหกรรมข้าวมีความพอใจในผลการดำเนินงานของธุรกิจทั้งในด้านผลตอบแทนทางการเงินและด้านต้นทุน ยกเว้นในด้านต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ในส่วนของกลยุทธ์ที่องค์กรใช้นั้น พบว่ากลยุทธ์ระดับองค์กรที่มีการใช้มากที่สุดคือกลยุทธ์การจัดซื้อ/จัดหา/การผลิตจากภายในองค์กร ส่วนกลยุทธ์ระดับธุรกิจนั้นพบว่ากลยุทธ์ด้านความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของตลาดและกลยุทธ์ด้านต้นทุนมีการใช้มากที่สุด สำหรับกลยุทธ์ด้านการดำเนินงานนั้นพบว่ากลยุทธ์การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์และการนำระบบการจัดการคลังสินค้า (WMS) มีการนำมาใช้มากที่สุด อย่างไรก็ดีจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกลยุทธ์ที่ใช้กับความพอใจในผลการดำเนินงานนั้นพบว่าองค์กรที่ใช้กลยุทธ์การจัดซื้อ/จัดหา/การผลิตจากองค์กรภายนอก กลยุทธ์การบูรณาการในแนวดิ่งหรือกลยุทธ์การบูรณาการในแนวราบจะมีความพอใจในผลการดำเนินงานมากกว่าองค์กรที่ไม่ได้ใช้ สำหรับกลยุทธ์ด้านการดำเนินงานนั้นพบว่ามีเพียงการใช้กลยุทธ์ด้านการจัดซื้อเท่านั้นที่ส่งผลกระทบในทางบวกต่อความพอใจในผลการดำเนินงาน
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการทราบว่าผู้ประกอบการ SMEs รับรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพียงใด และ SMEs ได้มีการนำปรัชญานี้ไปประยุกต์ในการกำหนดนโยบายและแผนการตลาดขององค์กรเพียงใดและในด้านใดบ้าง รวมทั้งต้องการทราบว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบด้วยปัจจัย 5 ประการ ได้แก่ ความพอประมาณ เหตุผล ภูมิคุ้มกัน ความรู้ และคุณธรรม มีความกลมกลืนกับข้อมูลการดำเนินงานของ SMEs หรือไม่ การออกแบบงานวิจัยเป็นทั้งงานวิจัยเชิงปริมาณและงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จำนวน 15 ราย และนำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการพัฒนาแบบสอบถามเพื่อใช้ในการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ SMEs ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ SMEs ทั้งสิ้น 1,520 ราย แบบสอบถามที่ได้รับกลับคืนที่มีความสมบูรณ์มีจำนวน 325 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.38 ของจำนวนแบบสอบถามที่ส่งออกไปทั้งหมด ผลการวิเคราะห์ข้อมูลและการทดสอบสมมติฐานพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่มีความเชื่อและทราบความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้มีการนำปรัชญานี้ไปประยุกต์ในนโยบายและแผนการตลาดของ SMEs ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในหลากหลายด้านของการดำเนินธุรกิจและสามารถบรรลุผลในภาพรวม ผู้ประกอบการจะประยุกต์ปรัชญานี้ในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงยืนยันพบว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความกลมกลืนกับการดำเนินธุรกิจของ SMEs จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ งานวิจัยเรื่องนี้ทำให้ได้ทราบถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ในการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของธุรกิจSMEs ผู้วิจัยได้อภิปรายผลการวิจัย และให้ข้อเสนอแนะสำหรับ SMEs โดยเฉพาะการสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ข้อเสนอแนะสำหรับงานวิจัยในอนาคต
การวิจัยครั้งนี้เป็นรูปแบบการวิจัยในลักษณะของการวิจัยเชิงสำรวจแบบระยะยาว (Survey and Panel Study) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการร้องทุกข์ของผู้บริโภคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2) ศึกษาถึงพฤติกรรมการร้องทุกข์ของผู้บริโภคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3) สร้างดัชนีมาตรฐานในการชี้วัดการร้องทุกข์ของผู้บริโภคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณในระดับบุคคลจากข้อมูลการร้องทุกข์ที่ได้จากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณรวมถึงการวิเคราะห์รายละเอียดเนื้อหา (Content analysis) ของการร้องทุกข์ในเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth interview) แบบมีโครงสร้าง (Structural interview) กับผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อการนำเสนอผลการวิจัยเพื่อร่วมอภิปรายผลการวิจัยเชิงปริมาณที่ได้ และจัดทำดัชนีชี้วัดการร้องทุกข์ของผู้บริโภคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Consumer Complaint Index: RECCI) รายไตรมาสเพื่อสังเกตการณ์แนวโน้มจำนวนการร้องทุกข์ ผลการวิจัยพบว่า ประเด็นในการร้องทุกข์มีในหลายลักษณะซึ่งโดยภาพรวมแล้วได้แก่ การร้องทุกข์ในด้านการไม่เป็นไปตามโฆษณาและสัญญา การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ปัญหาเงินดาวน์ เงินประกัน และคุณภาพของงานก่อสร้าง ตามลำดับ โดยประเภทองค์กรผู้พัฒนาโครงการและลักษณะของอสังหาริมทรัพย์มีผลต่อความแตกต่างในประเด็นการร้องทุกข์ นอกจากนี้ แนวโน้มของดัชนีชี้วัดการร้องทุกข์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แสดงให้เห็นว่าในสภาวะการณ์ปัจจุบันยังคงมีความผันผวนในประเด็นการร้องทุกข์ต่าง ๆ อยู่อย่างมากในช่วง 4 ไตรมาสของการศึกษา