บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอวิธีการวัดคุณภาพกำไรเพื่อการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์สามารถพยากรณ์กำไรในอนาคตเพื่อการประเมินมูลค่าของกิจการและให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น คุณภาพกำไรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินมูลค่าของกิจการ กำไรที่มีคุณภาพในการวิเคราะห์หลักทรัพย์จึงควรมีคุณสมบัติดังนี้ (1) กำไรนั้นควรมีความยั่งยืนและผันผวนน้อยที่สุด (2) กำไรนั้นควรสะท้อนกระแสเงินสดที่กิจการจะได้รับในอนาคต และ (3) กำไรนั้นควรสัมพันธ์กับราคาหลักทรัพย์ของกิจการ ดังนั้นงานวิจัยทางการบัญชีจึงเสนอตัววัดคุณภาพกำไร 2 ตัววัด คือ (1) ตัววัดคุณภาพกำไรที่ใช้ข้อมูลจากฐานบัญชีและ (2) ตัววัดคุณภาพกำไรที่ใช้ข้อมูลจากฐานตลาดหลักทรัพย์ โดยตัววัดคุณภาพกำไรที่ใช้ข้อมูลจากฐานบัญชีจะใช้ข้อมูลจากงบการเงินของกิจการร่วมกับเทคนิคทางสถิติ ในขณะที่ตัววัดคุณภาพกำไรที่ใช้ข้อมูลจากฐานตลาดหลักทรัพย์จะใช้ข้อมูลทั้งจากงบการเงินของกิจการและเทคนิคทางสถิติร่วมกับราคาหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ใช้ตัววัดทั้งสองแบบควรมีความคุ้นเคยกับการใช้ข้อมูลทางการเงินรวมถึงมีความรู้ความสามารถในการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ
โครงการวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการออมและปัจจัยที่ส่งผลต่อรูปแบบการออมหรือการลงทุนของผู้ออมในประเทศไทย ดำเนินการเก็บข้อมูลปฐมภูมิในมิติต่างๆโดยการใช้แบบสอบถามที่ออกแบบโดยคณะผู้วิจัย สอบถามกลุ่มประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง และสงขลา ที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป และมีอายุตั้งแต่ 20 ปี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 844 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงระดับการออมและวัตถุประสงค์ในการออม รูปแบบการออม และปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกรูปแบบการออม รวมทั้งศึกษาถึงความสอดคล้องระหว่างความรู้ความเข้าใจของผู้ออมในเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนกับรูปแบบที่เลือกออม โดยให้ความสำคัญกับรูปแบบการออมผ่านตลาดทุน ผลที่ได้จากการศึกษาจะทำให้เข้าใจถึงลักษณะ แนวคิด และปรัชญาในการออมและการลงทุน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการออมของผู้ที่มีเงินออมในประเทศไทย ซึ่งจะสามารถนำไปในใช้พิจารณากำหนดและปรับปรุงนโยบายตลอดจนมาตรการต่างๆในอันที่จะเพิ่มปริมาณการออมและการลงทุนในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมผ่านตลาดทุนไทย จากผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างของผู้ออมในประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีการศึกษาในระดับปริญญาตรีและมีความรู้ความเข้าในเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนดี มีอายุโดยเฉลี่ย 47 ปีและมีรายได้ปานกลางจากการทำงานประจำ อัตราการออมเฉลี่ยร้อยละ 29.17และสนใจการออมทุกรูปแบบ วัตถุประสงค์หลักในการออมคือเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ ผู้ออมจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีการลงทุนด้วยตัวเองโดยอาศัยข้อมูลจากบุคคลในครอบครัวและเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ผลการวิจัยพบว่าผู้ออมเลือกลงทุนในรูปแบบการออมแบบดั้งเดิมที่ผู้ออมรู้จักดี ได้แก่ การฝากเงินธนาคาร การทำประกันชีวิต การซื้อทองรูปพรรณและ/หรือทองคำแท่ง และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ มากกว่าการลงทุนซื้อตราสารการเงินผ่านตลาดทุน ซึ่งได้แก่พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวม หุ้นกู้และหุ้นสามัญ อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ออมมีรายได้เพิ่มขึ้นพบว่ามีแนวโน้มที่จะออมในรูปแบบดั้งเดิมลดลงและลงทุนซื้อตราสารการเงินในตลาดทุนมากขึ้น นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่าผู้ออมมีความเข้าใจดีว่าการลงทุนซื้อตราสารการเงินได้รับผลตอบแทนสูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงินลงทุนมากและมีความซับซ้อนเข้าใจยากจึงสนใจลงทุนน้อย ในการจัดสรรเงินออม ผู้ออมให้ความสำคัญต่อการจัดสรรเงินเพื่อลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์มากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากความต้องการมีที่อยู่อาศัยเพื่อความมั่นคงของครอบครัว และมีความเชื่อว่าการลงทุนประเภทนี้มีผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารการเงิน คำสำคัญ: การออม พฤติกรรมการออม รูปแบบการออม เหตุผลในการออม
การบัญชีบริหารเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการบริหารกิจการเพื่อความสำเร็จและความสามารถในการแข่งขันของกิจการการผลิต พาณิชยกรรม และการบริการ บทความนี้เป็นบทความที่เรียบเรียงจากผลการวิจัยเรื่องปัจจัยเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ที่ได้จากการนำการบัญชีบริหารไปประยุกต์ในกิจการ ได้แก่ การบริหารต้นทุน การจัดทำงบประมาณ และการจัดทำรายงานแยกตามส่วนงาน ซึ่งผู้เรียบเรียงได้เล็งเห็นว่าผลสรุปที่ได้จากการแสวงหาคำตอบของการทำวิจัยในประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพบัญชีและวิชาการบัญชีในการมุ่งเน้นถึงการยกระดับความสำคัญของบทบาทการบัญชีบริหารต่อการพัฒนากิจการภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้บริหารของกิจการได้ตระหนักถึงประโยชน์จากการปฏิบัติบัญชีบริหารและนำข้อมูลจากบัญชีบริหารไปประยุกต์ในการบริหารกิจการด้านการวางแผน การควบคุมและการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จและความสามารถในการแข่งขันของกิจการได้อย่างยั่งยืน
บทความนี้ศึกษาประวัติของผู้บริหารระดับสูง 2 กลุ่มคือ คณะกรรมการบริษัท (board of directors) และคณะกรรมการบริหาร (executive committees) ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยปี 2556 ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ธนาคารพาณิชย์ เกษตรและอาหาร และบริหารโรงพยาบาล เพื่อประเมินความพร้อมของบริษัทไทยด้านทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในแง่รุกและรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่านการดูคุณสมบัติของผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ เพื่อหากลุ่มคนที่เรียกว่าเป็น “ผู้บริหารระดับโลก (global managers)” ได้แก่ ผู้บริหารไทยที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ ผู้บริหารไทยที่มีประสบการณ์ทำงานในบรรษัทข้ามชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารชาวต่างชาติที่เคยทำงานในต่างประเทศ และผู้บริหารไทยที่เคยทำงานในต่างประเทศ (รวมประเทศในอาเซียน)
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามตอบคำถามที่ว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใดในอนาคต เราจะเป็นประเทศที่ล้าหลังหรือไม่ จากการทบทวนการพัฒนาของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งทางด้านการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการเงิน ตลอดจนทางด้านกำกับดูแลและธรรมาภิบาล พบว่าประเทศไทยมีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับประเทศคู่เทียบ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ถึงแม้ไทยมีการพัฒนาทางด้านการเงินดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ การพัฒนาทางด้านการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลแย่ลงในทุกมิติสำหรับแนวโน้มในการพัฒนาของประเทศในอนาคตนั้น จากการวิเคราะห์พบว่าประเทศไทยมีปัญหาทางด้านกลุ่มพลังในการพัฒนา (Development Cluster) ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาการขัดแย้งทางด้านการเมืองซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานของรัฐบาลและรายได้ของประเทศในที่สุด นอกจากนั้น ระบบสถาบันการเมืองของไทยยังมีลักษณะแสวงหาผลประโยชน์ (Extractive Political Institutions) มากกว่าการมีส่วนร่วม (Inclusive Political Institutions) เมื่อพิจารณาเส้นทางเดินของประเทศไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้กรอบการวิเคราะห์ในลักษณะของบริษัท พบว่าเส้นทางเดินของประเทศได้มีลักษณะที่อาจก้าวไปสู่ความล้มเหลวได้ดังนั้นถ้าผู้บริหารประเทศและนักการเมืองยังไม่ตระหนักถึงปัญหาและมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังเชื่อว่าประเทศเรายังดีอยู่อีกไม่นานประเทศไทยก็คงเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นศึกษาถึงความล้มเหลวอย่างเช่น กรีซ หรือ อาร์เจนตินา