ผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากการเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ในการคำนวณดัชนี (Index Effect) ได้แก่ผลกระทบที่มีต่อราคาและปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ที่ถูกปรับเข้าหรือปรับออกจากดัชนี มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบนี้เป็นจำนวนมากในทศวรรษที่ผ่านมา บทความนี้อภิปรายและสรุปถึงผลการศึกษาที่เกี่ยวกับผลกระทบนี้ รวมทั้งทฤษฎีที่ใช้ในการอธิบายผลกระทบดังกล่าวและความเกี่ยวข้องของแต่ละทฤษฎีในการอธิบายผลการศึกษาในแต่ละงานวิจัย บทความนี้ยังได้อภิปรายผลการศึกษา Index Effect ที่มีต่อทฤษฎีความมีประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์ (Efficient Market Hypothesis) นอกจากนี้บทความนี้ได้ให้แนวทางทิศทางการทำวิจัยในอนาคตที่เกี่ยวกับเรื่อง Index Effect นี้
การวัดมูลค่ายุติธรรมด้วยเทคนิคกระแสเงินสดคิดลดจำเป็นต้องมีการปรับตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณด้วยความเสี่ยงของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้การวัดมูลค่ายุติธรรมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและเชื่อถือถือได้ วิธีการปรับความเสี่ยงในแบบจำลองสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ (1) เทคนิคการปรับอัตราคิดลด และ (2) เทคนิคมูลค่าปัจจุบันที่ค่าคาดหวัง โดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยหรือฐานนิยมเป็นพื้นฐานในการกำหนดประมาณการที่ดีที่สุดของกระแสเงินสดที่คาดหวัง การเลือกตัวชี้วัดทางสถิติดังกล่าวขึ้นอยู่กับลักษณะของกระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นจากสินทรัพย์หรือหนี้สินที่กิจการจะวัดมูลค่ายุติธรรมและวัตถุประสงค์ของการวัดมูลค่ายุติธรรม การวัดมูลค่ายุติธรรมของหนี้สินต้องพิจารณาความเสี่ยงที่กิจการจะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาอันเกิดจากความเสี่ยงด้านเครดิตของกิจการ การปรับมูลค่ายุติธรรมของหนี้สินลดลงและก่อให้เกิดกำไรในสภาพแวดล้อมที่กิจการมีปัญหาและไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ไม่ใช่สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น ความเสี่ยงที่กิจการจะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้เกิดจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่ลดลง และมีความเป็นไปได้บางส่วนที่เจ้าหนี้อาจต้องร่วมรับรู้ผลขาดทุนนั้น ทำให้มูลค่ายุติธรรมของหนี้สินลดลงและก่อให้เกิดกำไรเชิงเศรษฐกิจแก่เจ้าของ
งานวิจัยนี้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนกับอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยใช้สมการถดถอยในการศึกษา การวิจัยนี้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 2 ประเภท คือ ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยคือราคาปิดรายเดือนของอัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอัตราผลตอบแทนของบริษัทที่จดทะเบียนทั้งสิ้น 244 บริษัท ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ผลการวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนที่พ้องกับการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์มีนัยสำคัญทั้งกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นดัชนีค่าเงินบาทและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนที่ตามหลังการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนหลักทรัพย์มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเป็นการเปลี่ยนแปลงระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ส่วนในระดับบริษัทพบว่ามีทั้งบริษัทที่ได้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าเงินบาทและการเปลี่ยนแปลงระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์ทั้งในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงพ้องและตามหลังการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนของบริษัท สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนพบว่า ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นดัชนีค่าเงินบาท มูลค่าตลาดเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแต่ไม่มีผลเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเป็นอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนลักษณะการประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีผลต่อความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเชื่อมั่นของการควบคุมภายในองค์กรในประเทศไทย โดยการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis) องค์ประกอบของการควบคุมภายใน พบว่า สภาพแวดล้อมของการควบคุม สารสนเทศและการสื่อสาร และการติดตามประเมิน ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของการควบคุมภายใน ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการทดสอบความสัมพันธ์ไคสแควร์ (Chi-Square) ลักษณะประชากรศาสตร์มีความสัมพันธ์กับระดับความเชื่อมั่นของการควบคุมภายใน ณ ระดับนัยสำคัญ 0.05 และการทดสอบความแตกต่าง (Independent t-test) ระดับความเชื่อมั่นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีระดับความเชื่อมั่นไม่แตกต่างกับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งปัญหาของการควบคุมภายในที่ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นขององค์กรมากที่สุด คือ สภาพแวดล้อมของการควบคุม ในเรื่องการติดตามผลการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย และความรู้ความสามารถของบุคลากรที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน รองลงมา คือ การติดตามประเมิน เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพของหน่วยงานตรวจสอบภายในจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก และกิจกรรมการควบคุมที่มีแผนงานเป็นลายลักษณ์อักษร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบผลกระทบของการบริหารการผลิตเชิงกลยุทธ์ที่มีต่อความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย การบริหารการผลิตเชิง กลยุทธ์เป็นตัวแปรอิสระและเป็นตัวกำหนดความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารฝ่ายการผลิตธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย จำนวน 136 คน และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ ผลการวิจัย พบว่า 1) การบริหารการผลิตเชิงกลยุทธ์ ด้านการวางแผนการผลิต มีผลกระทบเชิงบวกกับความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยรวม ด้านประสิทธิภาพ ด้านคุณภาพ ด้านนวัตกรรม และด้านการตอบสนองลูกค้า 2) การบริหารการผลิตเชิงกลยุทธ์ ด้านการควบคุมสินค้าคงเหลือ มีผลกระทบเชิงบวกกับความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยรวม ด้านประสิทธิภาพ และ ด้านคุณภาพ และ 3) การบริหารการผลิตเชิงกลยุทธ์ ด้านการซ่อมบำรุง มีผลกระทบเชิงบวกกับ ความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยรวม ด้านประสิทธิภาพ ด้านคุณภาพ ด้านนวัตกรรม และ ด้านการตอบสนองลูกค้า โดยสรุป การบริหารการผลิตเชิงกลยุทธ์มีผลกระทบต่อความได้เปรียบ ทางการแข่งขัน ดังนั้น ผู้บริหารฝ่ายการผลิตจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการผลิต การควบคุมสินค้าคงเหลือ การซ่อมบำรุง แสวงหากรรมวิธีในการผลิต กระบวนการในการผลิตแบบใหม่ๆ และนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อส่งผลให้องค์กรมีผลการดำเนินงานที่ดีมากยิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างยั่งยืน