วิกฤตการณ์ซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาได้สร้างความปั่นป่วนให้กับภาคการเงินและเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรุนแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นงานศึกษาชิ้นนี้จึงตั้งประเด็นเพื่อวิเคราะห์ถึงช่องทางการส่งผ่านผลกระทบของวิกฤตการณ์ซับไพรม์ต่อระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงภายในประเทศ การส่งผ่านผลกระทบจากวิกฤตการณ์ซับไพรม์มายังระบบเศรษฐกิจไทยเกิดได้ 3 ช่องทางได้แก่ 1) ผลกระทบที่ส่งผ่านทางภาคการเงินของประเทศไทย 2) ผลกระทบที่ส่งผ่านทางตลาดทุน และ 3) ผลกระทบที่ส่งผ่านการค้าระหว่างประเทศ งานศึกษาชิ้นนี้พบว่าผลกระทบของวิกฤตการณ์ซับไพรม์ที่มีต่อภาคการเงินและสถาบันการเงินของประเทศไทยนั้นมีอย่างจำกัด ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันการเงินในประเทศไทยมีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อและการลงทุนอย่างรัดกุม รวมถึงมีมาตรการควบคุมสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1997 อย่างไรก็ตาม งานศึกษาชิ้นนี้คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่วิกฤตการณ์ซับไพรม์จะกระทบภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยอย่างรุนแรง โดยส่งผ่านทางตลาดทุน และการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่งผลกระทบต่อสถานะทางสินทรัพย์ของภาคเอกชน (Wealth Effect) และเพิ่มความผันผวนในตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูง จึงทำให้ผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ส่งผ่านผู้ผลิตขั้นกลางอยู่ในระดับที่สูงหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสหรัฐอเมริกาและอื่น ๆ ดังนั้นวิกฤตการณ์ซับไพรม์อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยได้
การวิจัยนี้ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบผลกระทบของกลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลง และการถ่ายโอนองค์ความรู้ที่มีต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ซึ่งกลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลงและการถ่ายโอนองค์ความรู้เป็นตัวแปรอิสระและเป็นตัวกำหนด ผลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามใช้วิธีส่งจดหมายทางไปรษณีย์ เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเนื้อความสมบูรณ์ทั้งสิ้น 136 คนผลการวิจัย พบว่า 1) กลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลง ด้านผลลัพธ์ที่มีต่อความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล และด้านการรับรู้ของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับภาวะผู้นำในระหว่างการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบเชิงบวกกับการถ่ายโอนองค์ความรู้ 2) การถ่ายโอนองค์ความรู้ ด้านการปรับเปลี่ยนของกลุ่มทำงาน และด้านการปรับขั้นตอนการทำงานมีผลกระทบเชิงบวกกับผลการดำเนินงาน 3) กลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลง ด้านผลลัพธ์ที่มีต่อความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล และด้านการรับรู้ของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับภาวะผู้นำในระหว่างการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบเชิงบวกกับผลการดำเนินงาน นอกจากนี้ ประโยชน์ของการวิจัยสามารถที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลในพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์การบริหาร การเปลี่ยนแปลง เพื่อก่อให้เกิดทักษะการถ่ายโอนองค์ความรู้ ทั้งภายในและภายนอกกลุ่มธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้ง ยังช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานของธุรกิจในอนาคตต่อไป
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลด้าน การจัดการทรัพยากรบุคคลของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยการสนทนากลุ่มของพนักงาน และสัมภาษณ์เชิงลึกในระดับผู้บริหาร ผลการศึกษา พบว่า บวท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบรรษัทภิบาลโดยภาพรวมในระดับ ที่ยอมรับได้ โดยมีบรรษัทภิบาลด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดีมาก มีหลักเกณฑ์ คู่มือ การมอบหมายงานที่ชัดเจน แต่มีปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับผู้ใช้ระบบทั้งในส่วนของพนักงานและฝ่ายบริหารที่มีความเข้าใจและมีการใช้ระบบที่ยืดหยุ่นแตกต่างกัน ส่งผลให้ระดับของบรรษัทภิบาลด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลยังไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาในส่วนของการบูรณาการเครื่องมือและระบบต่างๆ ให้สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรมอย่างจริงจัง อีกทั้งการนำระบบสารสนเทศมาช่วยในการจัดการงานให้มากขึ้น โดยแนวทางในการนำไปใช้และข้อจำกัดการศึกษาถูกระบุไว้ในการศึกษานี้
บทความวิจัยนี้รายงานถึงผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงข้อแนะนำในการพัฒนาองค์กรในส่วนราชการไทยไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ วิธีการวิจัยที่ใช้คือการสัมภาษณ์ (semi-structured interviewing) โดยผู้ให้สัมภาษณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่างๆที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทางด้านการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร และการจัดการความรู้ในองค์กร ข้อแนะนำหลักในการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้มีดังต่อไปนี้ กล่าวคือ 1) การสร้างสำนึกของบุคลากรในองค์กรให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ 2) การที่ผู้นำแสดงบทบาทเพื่อให้สอดคล้องต่อการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กร 3) การบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องต่อการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กร 4) การจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 5) การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม ซึ่งรายละเอียดของแต่ละข้อแนะนำหลัก รวมทั้งการบริหารจัดการและการประเมินผลการพัฒนาองค์กรแห่งเรียนรู้จะได้กล่าวไว้ในบทความวิจัยฉบับนี้
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ 1) เพื่อวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินของสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเพชรบุรีจากการวิเคราะห์ CAMEL โดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน 17 อัตราส่วน และ 2) เพื่อสกัดปัจจัยทางการเงินจากอัตราส่วนทางการเงินของการวิเคราะห์ CAMEL ดังกล่าวที่สามารถใช้อธิบายสถานะทางการเงินของสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเพชรบุรีได้ ข้อมูลที่ศึกษาได้จากการสำรวจสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเพชรบุรีจำนวน 19 แห่งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ. 2551 สำหรับการกำหนดจำนวนปัจจัยทางการเงินใช้การวิเคราะห์แบบขนานและใช้การสกัดปัจจัยด้วยวิธี Principal Component Analysis (PCA) และหมุนปัจจัยด้วยวิธี Varimax ผลการวิเคราะห์ปัจจัยพบว่า อัตราส่วนทางการเงินของสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเพชรบุรีสามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยทางการเงินจำนวน 3 ปัจจัย คือ 1) ปัจจัยด้านความสามารถในการบริหารธุรกิจและการให้กู้ยืม 2) ปัจจัยด้านการจัดการหนี้สิน การบริหารลูกหนี้ และทุนสะสม และ 3) ปัจจัยด้านประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์
เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตนับวันจะยิ่งเพิ่มความรวดเร็วเป็นทวีคูณ ทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการตลาดช่องทางใหม่ที่ทุกธุรกิจให้ความสำคัญ เพราะต้นทุนที่ไม่สูง แต่สามารถเปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าได้ทั่วทุกมุมโลก จึงมีธุรกิจจำนวนมากเปิดเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ดีความสำเร็จของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีผลอย่างมากจากความเชื่อถือไว้วางใจและความพึงพอใจของลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาถึงปัจจัยที่น่าจะมีความเกี่ยวข้องหรือส่งผลต่อความเชื่อถือไว้วางใจและความพึงพอใจของลูกค้าในการทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ต 3 ปัจจัยได้แก่ (1) รูปแบบการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีแบบสองทาง บนอินเตอร์เน็ต (2) ความอายในการซื้อสินค้า และ (3) เพศของตัวแทนในส่วนให้บริการลูกค้า ข้อมูลถูกเก็บรวบรวมจากหน่วยตัวอย่างจำนวน 229 คน โดยใช้แบบสอบถาม การทดสอบสมมติฐานยืนยันว่า ความน่าอับอายของสินค้ามีความสัมพันธ์กับการเลือกรูปแบบในการสื่อสารแบบสองทางบนอินเตอร์เน็ตและการเลือกเพศของตัวแทนในส่วนให้บริการลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับสินค้าที่สร้างความน่าอับอาย ผู้ใช้บริการจะเลือกใช้รูปแบบในการสื่อสารแบบสองทางด้วยการพิมพ์ข้อความและใช้บริการกับตัวแทนในส่วนให้บริการลูกค้าที่เป็นเพศเดียวกันกับผู้ใช้บริการ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่สร้างความน่าอับอาย ผู้ใช้บริการจะเลือกใช้รูปแบบในการสื่อสารแบบสองทางหลากหลายรูปแบบและใช้บริการกับตัวแทนในส่วนให้บริการลูกค้าที่มีเพศตรงกันข้ามกับผู้ใช้บริการ ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่มีส่วนให้บริการลูกค้ามีความสัมพันธ์กับความเต็มใจของผู้ใช้บริการที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และความจำเป็นของการที่เว็บไซต์ต้องมีส่วนให้บริการลูกค้ามีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 โดยผลการศึกษาข้างต้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยและสามารถพัฒนาต่อไปในเชิงพาณิชย์ได้
บทความนี้นำเสนอถึงนวัตกรรมทางกลยุทธ์ หรือ Strategy Innovation ซึ่งเป็นแนวทางในการคิดและพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ โดยในปัจจุบันองค์กรธุรกิจกำลังประสบกับปัญหาในเรื่องของการคิดค้นและพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ ซึ่งการจะมีนวัตกรรมทางกลยุทธ์ขึ้นมาได้นั้นต้องเริ่มต้นจากมุมมองใหม่ๆ ในการพิจารณากลยุทธ์การดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างความต้องการของลูกค้ามากกว่าการตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือ การมุ่งจับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าหรือ Non-Customers มากกว่าลูกค้าเดิมๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรม บทความนี้ได้นำเสนอวิธีการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมทางกลยุทธ์ทั้งสิ้น สี่แนวทางได้แก่ การมองให้เห็นถึงอุตสาหกรรมทางเลือก การสร้างธุรกิจใหม่จากสองอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน การเรียนรู้และนำประสบการณ์จากอุตสาหกรรมอื่นมาใช้ และ การปรับแนวคิดเกี่ยวกับลูกค้า โดยวิธีการคิดทั้งสี่ประการเป็นเพียงแค่วิธีการที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจได้เห็นถึงมุมมองที่ใหม่และแตกต่างไปจากเดิม เพื่อสุดท้ายแล้วทำให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมทางกลยุทธ์ขึ้นมาได้
สินค้าจากประเทศจีน มีแนวโน้มเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญและต้องจับตาศึกษาเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักการตลาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลเริ่มนโยบายเปิดเสรีทางการค้ากับจีน งานวิจัยเรื่อง ?ทัศนคติและการรับรู้ของผู้บริโภคไทยในกรุงเทพมหานครต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน**? (Attitude and Perception of Thai Consumers in Bangkok Metropolitan towards Made-in China Products)?นี้ จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาทัศนคติและการยอมรับของผู้บริโภคไทย ต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน ประเภทต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากลยุทธ์ เพื่อเตรียมรับกับการแข่งขันทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย ในธุรกิจประเภทและระดับต่างๆ การวิจัยทำโดย เก็บรวบรวมข้อมูล 2 ส่วน คือ การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจำนวน 300 ตัวอย่าง และ ส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยโดยสัมภาษณ์กลุ่มย่อยแบบเจาะลึก (Focus Group Interview) 2 กลุ่ม รวม 15 คน ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยคือทัศนคติและการรับรู้ของผู้บริโภคแบบเหมารวม (Stereotype Perception) ต่อสินค้าที่ประเทศจีนเป็นผู้ผลิต (Country-of-Origin)ทั้งในภาพรวมและแยกรายประเภทสินค้า ระดับความรักเผ่าพันธุ์ในกลุ่มประชากรเชื้อสายจีนที่อยู่ในประเทศไทย (Ethnocentrism) ที่มีผลต่อทัศนคติในการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศจีน ผลกระทบของประเภทสินค้า และ ตรายี่ห้อ ที่มีต่อทัศนคติและการยอมรับสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน ตลอดจนโอกาสการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการยอมรับในสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนของผู้บริโภคไทยนี้ ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยข้างต้น สามารถนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ทางการตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สามารถใช้ประกอบการพัฒนากลยุทธ์การแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการไทยในธุรกิจต่างๆ
งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจเพื่อสร้างเครื่องมือการวัดพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคชาวไทย ด้วยการพัฒนาเครื่องมือการวัดขึ้นจากเครื่องมือของ Roberts (1996) และ Bodur & Sarigollu (2005) โดยปรับบางข้อคำถามให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและสังคมของไทย ผ่านการสัมภาษณ์กลุ่ม และการทดสอบเครื่องมือด้วยการวัดค่าสัมประสิทธิความน่าเชื่อถือ และการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis) ผลการศึกษาพบว่า เครื่องมือวัดพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้บริโภคชาวไทยจะประกอบด้วย 36 ข้อคำถาม ซึ่งสามารถจัดแยกได้เป็น 9 กลุ่มพฤติกรรม และเมื่อนำเครื่องมือที่ได้นี้มาวิเคราะห์จำแนกกลุ่มผู้บริโภคแล้วด้วยวิธีการวิเคราะห์จัดกลุ่มแบบสองชั้น two steps cluster analysis แล้ว จะสามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่รักษ์ (ไม่สนใจการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) กลุ่มรักษ์จริงจัง (มีการบริโภค ช่วยประชาสัมพันธ์ และเข้าร่วมกิจกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) กลุ่มรักษ์รีไซเคิล (สนใจการบริโภคเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก) กลุ่มรักษ์เฉพาะกลุ่ม (สนใจบริโภคทั้งสินค้าและข่าวสารที่เกี่ยวกับการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นไปเฉพาะกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว) และกลุ่มรักษ์สันโดษ (สนใจการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ช่วยเผยแพร่ข่าวสาร หรือรับข่าวสารอย่างกระตือรือร้น) จากผลวิจัยทำให้เห็นรายละเอียดของพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่างานวิจัยในอดีต ที่มักจะแบ่งกลุ่มผู้บริโภคออกเป็นผู้สนใจและไม่สนใจต่อการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หรือแบ่งเป็นผู้สนใจเชิงรุก และสนใจเชิงรับ
ในปัจจุบันการวัดผลการทำงานในองค์กรมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและมีการจัดการอย่างยั่งยืน โลจิสติกส์และโซ่อุปทานก็นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งในการบริหาร การวัดผลการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงเป็นการควบคุมการทำงานที่สำคัญและทำให้ทราบถึงจุดอ่อนและจุดแข็งในการปฏิบัติงานในองค์กร บทความนี้เป็นการนำเสนอวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการวัดผลการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะประกอบไปด้วย Balanced Scorecard, SCOR, Logistics Scoreboard, Activity-Based Costing, และ Economic Value-Added นอกจากนี้ยังได้นำเสนองานวิจัยที่ได้รวบรวมตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จากงานวิจัยต่างๆ พบว่าตัวชี้วัดในด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีจำนวนมาก งานวิจัยในอนาคตสามารถที่เปรียบเทียบความสำคัญของตัวชี้วัดในมุมมองของแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อที่จะเลือกตัวชี้วัดที่เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมนั้นๆ ต่อไป