การศึกษาในครั้งนี้มีพื้นฐานมากจากการผสมผสานองค์ความรู้จากสามทฤษฎีหลักได้แก่ ทฤษฎีต้นทุนธุรกรรม ทฤษฎีตัวแทน และทฤษฎีฐานทรัพยากร โดยทำการศึกษาถึงอิทธิพลของทรัพยากรและความสามารถในการลดต้นทุนธุรกรรมของบริษัทจัดการส่งออกในประเทศไทยที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ นอกจากนี้การศึกษาในครั้งนี้ยังได้ศึกษาถึงอิทธิพลของการมุ่งเน้นการเรียนรู้ซึ่งเป็นตัวแปรกำกับที่มีผลต่อความความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรและความสามารถในการลดต้นทุนธุรกรรมของบริษัทจัดการส่งออก ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังคงมีการศึกษาในประเด็นนี้น้อยมากโดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าทรัพยากรของบริษัทจัดการส่งออกมีอิทธิพลเชิงบวกต่อความสามารถในการลดตันทุนธุรกรรมและต่อผลการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันความสามารถในการลดต้นทุนธุรกรรมก็มีอิทธิพลเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจัดการส่งออก ผลการศึกษาสอดคล้องกับการศึกษาในอดีต อย่างไรก็ตามการศึกษาในครั้งนี้ไม่พบอิทธิพลของการมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรและความสามารถในการลดต้นทุนธุรกรรมของบริษัทจัดการส่งออกในประเทศไทย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จและการสื่อสาร การตลาดแบบบูรณาการที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การบริการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ ผู้ใช้บริการบนสถานีตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมจำนวน 600 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน การวิเคราะห์อิทธิพลเชิงสาเหตุ และการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling- SEM) ผลการวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์การบริการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย ศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จบนสถานีตำรวจ การสื่อสารการตลาดบริการแบบบูรณาการ คุณภาพการบริการ โดยองค์ประกอบที่มีความสำคัญที่สุดของรูปแบบศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จและการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การบริการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือคุณภาพการบริการ ด้านการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การบริการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านความ พึงพอใจมากที่สุด โดยโมเดลรูปแบบศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จและการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การบริการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ในระดับดี
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของคุณภาพการบริการที่มีต่อความพึงพอใจของลูกค้า และต่อการเปลี่ยนผู้ให้บริการ ในการศึกษาได้เก็บข้อมูลจากผู้รับบริการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักในเขตกรุงเทพมหานครด้วยวิธีการแจกแบบสอบถาม ข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่าง 453 ตัวอย่าง บ่งชี้ได้ว่า คุณภาพการบริการมีอิทธิพลทางตรงต่อความพึงพอใจของลูกค้าในทางบวก และมีอิทธิพลทางอ้อมต่อการเปลี่ยนผู้ให้บริการในทางลบ นอกจากนั้น ในการจะรักษาฐานลูกค้าเดิม หรือดึงดูดลูกค้าใหม่สำหรับธุรกิจบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ มิติคุณภาพการบริการที่ควรเน้นย้ำเป็นพิเศษคือ มิติความพร้อมที่จะตอบสนองต่อลูกค้า ในด้านความพร้อมของผู้ให้บริการที่พร้อมจะให้บริการความช่วยเหลือต่อลูกค้าอยู่เสมอ ด้วยความกระตือรือร้น ด้วยความรวดเร็วทันใจ และด้วยการแสดงออกถึงความเต็มใจในการให้บริการอย่างดีที่สุด มิติรองลงมาคือมิติความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานคงเส้นคงวาในการให้บริการ มิติคุณภาพของเครือข่าย มิติความเอาใจใส่ต่อลูกค้า และมิติองค์ประกอบที่จับต้องได้ (เช่น อุปกรณ์ที่ครบครันในศูนย์บริการ) ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการควรต้องบำรุงรักษา เสริมสร้างไม่ให้ขาดตกบกพร่อง และพัฒนาปรับปรุงอยู่อย่างต่อเนื่อง
การวิจัยครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความแม่นยำของแบบจำลองในการประเมินความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างแบบจำลองประเภทที่ใช้การคำนวณมูลค่าออปชัน ได้แก่แบบจำลองเมอร์ตัน (Merton Model) แบบจำลองแบรีเออร์ ออปชัน (Barrier Option Model) แบบจำลองค่าเฉลี่ยระหว่างแบบจำลองเมอร์ตันและแบบจำลองแบรีเออร์ ออปชัน กับแบบจำลองที่ใช้การคำนวณจากอัตราส่วนทางการเงินซึ่งได้แก่ แบบจำลอง (Altman – Z – Score Model) โดยเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากตราสารหนี้ภาคเอกชนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีการเปิดเผยอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในช่วงปีพ.ศ.2545 ถึงพ.ศ.2554 ผลการวิจัยพบว่าแบบจำลองทั้งจำลองทั้งสี่แบบจำลองมีประสิทธิภาพในการจำแนกหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระหว่าง A- ถึง AAA กับ BBB+ หรือต่ำกว่าได้ ในส่วนของการเปรียบเทียบความแม่นยำนั้นแบบจำลองประเภทประเภทกลุ่มของออปชัน มีความแม่นยำในการพยากรณ์มากกว่าแบบจำลองที่ใช้การคำนวณจากอัตราส่วนทางการเงินแบบจำลอง ถึงแม้ว่าแบบจำลองเมอร์ตันมีความแม่นยำมากที่สุดแต่แบบจำลองทั้ง 4 แบบจำลองยังไม่มีประสิทธิภาพในการทำนายอันดับความอันดับความน่าเชื่อถือเพียงพอ เนื่องมาจากอาจมีปัจจัยนอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินที่ส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถืออีก อย่างไรก็ตามเพื่อทดสอบเพิ่มเติมกับบริษัทที่ออกตราสารหนี้ แต่ถูกห้ามการซื้อขายหุ้นสามัญที่สะท้อนบริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน แบบจำลอง Altman-Z-Score พบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีในการทำนาย