การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบจำลองการทำนายความเป็นผู้ประกอบการโดยอาศัยการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกทวิกับกลุ่มตัวอย่างเป็นประชากรไทยที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 2,362 ตัวอย่างโดยอาศัยข้อมูลจากสำรวจโครงการศึกษาสังคมความเป็นผู้ประกอบการระดับโลก ในปี 2556 ซึ่งมีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนทั่วประเทศไทยและทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวิจัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกทวิ พบว่า ความตั้งใจเป็นผู้ประกอบการ สามารถอธิบายโดย ปัจจัยการรับรู้ โอกาสในการทำธุรกิจ (Perception on opportunities) การรับรู้ความสามารถของตนเองที่จะเป็นผู้ประกอบการ (Perception on self–efficacy) ความกลัวที่จะล้มเหลว (Perception on fear of failure) และการมีเครือข่ายในการทำธุรกิจ (Entrepreneurial Network) โดยผู้ที่มองเห็นโอกาสในการประกอบธุรกิจ มีศักยภาพของผู้ประกอบการ ไม่กลัวที่จะล้มเหลวและมีเครือข่ายในการทำธุรกิจมีความตั้งใจเป็นผู้ประกอบการมากกว่าอีกกลุ่มที่เป็นฐาน (baseline category) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คำสำคัญ: ความตั้งใจเป็นผู้ประกอบการ โครงการศึกษาสังคมความเป็นผู้ประกอบการระดับโลก การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกทวิ ประเทศไทย
การศึกษานี้แบ่งแยกกำไรในปัจจุบันเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ รายการคงค้างและกระแสเงินสด และแบ่งแยกกระแสเงินสดเป็นอีก 3 องค์ประกอบย่อย ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงในยอดคงเหลือของเงินสด (2) กระแสเงินสดสุทธิที่ให้แก่เจ้าหนี้ และ (3) กระแสเงินสดสุทธิที่ให้แก่ผู้ถือหุ้น การศึกษานี้แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความคงอยู่ในกำไรในอนาคต (Earnings Persistence) และการรับรู้ของตลาดทุนเกี่ยวกับความคงอยู่ของกำไรในอนาคต (Market Pricing) ขององค์ประกอบต่างๆ ของกำไรข้างต้นของบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึงปี พ.ศ. 2552 ผลการศึกษาเกี่ยวกับความคงอยู่ในกำไรในอนาคตพบว่า กระแสเงินสดมีความคงอยู่ในกำไรในอนาคตมากกว่ารายการคงค้าง และกระแสเงินสดสุทธิที่ให้แก่ผู้ถือหุ้นมีความคงอยู่ในกำไรในอนาคตมากกว่าการเปลี่ยนแปลงในยอดคงเหลือของเงินสดและกระแสเงินสดสุทธิที่ให้แก่เจ้าหนี้ ผลการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ของตลาดทุนเกี่ยวกับความคงอยู่ของกำไรในอนาคตพบว่า ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยรับรู้ความคงอยู่ของกำไรในอนาคตสูงเกินไปสำหรับกำไรในปัจจุบัน รายการคงค้าง และกระแสเงินสด รวมทั้งองค์ประกอบย่อยทั้งสามของกระแสเงินสด นอกจากนี้ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบยังชี้ให้เห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยดูเหมือนว่าจะคาดการณ์ได้ว่าความคงอยู่ในกำไรในอนาคตสำหรับกระแสเงินสดสุทธิที่ให้แก่ผู้ถือหุ้นจะมีระดับที่สูงความคงอยู่ในกำไรในอนาคตสำหรับการเปลี่ยนแปลงในยอดคงเหลือของเงินสดและกระแสเงินสดสุทธิที่ให้แก่เจ้าหนี้ แต่ดูเหมือนว่าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าความคงอยู่ในกำไรในอนาคตสำหรับรายการคงค้างมีระดับต่ำกว่าความคงอยู่ในกำไรสำหรับการเปลี่ยนแปลงในยอดคงเหลือของเงินสดและกระแสเงินสดสุทธิที่ให้แก่เจ้าหนี้ คำสำคัญ: ความคงอยู่ในกำไรในอนาคต การรับรู้ของตลาดทุนเกี่ยวกับความคงอยู่ของกำไรในอนาคต กระแสเงินสด รายการคงค้าง
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความก้าวหน้า (E-Progression) ในการใช้สื่อสังคม (Social Media) ประเภทต่างๆ ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลและสารสนเทศที่ได้จากการใช้สื่อสังคม ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานั้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นำสื่อสังคมประเภทต่างๆ มาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ทิศทางของการใช้สื่อสังคมในทางธุรกิจนั้นยังค่อนข้างจำกัด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สื่อสังคมในการโฆษณาสินค้า หรือการจัดโปรโมชั่นต่างๆเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับบริษัท แต่ประโยชน์ของสื่อสังคมในด้านอื่นๆ เช่น การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) หรือ แม้กระทั่งการบริหารองค์ความรู้ภายในองค์กร (Knowledge Management) ยังค่อนข้างถูกละเลยจากบริษัทผู้จดทะเบียนในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้จึงมุ่งเสนอแนะแนวทางเพื่อให้องค์กรสามารถที่นำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจ โดยผู้วิจัยได้ศึกษาถึงประเภทและคุณลักษณะของเว็บไซต์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและจัดกลุ่มระดับความก้าวหน้าของการใช้สื่อสังคมในเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มความก้าวหน้าออกเป็น 4 ระดับ โดยผู้วิจัยได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 603 บริษัท ผลการสำรวจและเปรียบเทียบโดยใช้รายการในการตรวจสอบความก้าวหน้าของสื่อสังคม (Social Media Progression Check List) นั้น ผู้วิจัยสามารถสรุปข้อมูลจำนวนเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆ ที่มีที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อีกทั้งการสำรวจเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆที่มีลิงค์หรือ iconในการเชื่อมต่อเข้าสู่สื่อสังคมประเภทต่างๆของบริษัทว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 157 บริษัท โดยคุณลักษณะและระดับความก้าวหน้าการใช้งานของสื่อสังคมของบริษัททั้ง 157 นั้นอยู่ในระดับที่ 1 (ระดับของการนำเสนอข้อมูลออนไลน์) และระดับที่ 2 (ระดับของการแสดงตัวตนและมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์) โดยสื่อสังคมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Facebook และ Youtube อีกทั้งบริษัทที่มีการใช้งานสื่อสังคมทั้งในระดับที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วนที่มากที่สุดคือบริษัทในประเภทอุตสาหกรรม (1) บริการ (2) อสังหาริมทรัพย์และ (3) ธุรกิจการเงิน ผู้วิจัยยังได้ทำการสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ผลิต เผยแพร่ และบริหารจัดการการใช้สื่อสังคมให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย โดยผลการสัมภาษณ์แสดงถึงมุมมองของบริษัทต่างๆที่มีความตระหนักถึงการใช้สื่อสังคมในด้านอื่นๆในอนาคตที่นอกเหนือจากการทำการตลาดอีกด้วย
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าการบริโภคกับพฤติกรรมและความพึงพอใจในการใช้บริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ทำการศึกษาโดยการจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์คุณค่าการบริโภค เพื่ออธิบายลักษณะทางประชากรศาสตร์ พฤติกรรมและความพึงพอใจในการใช้บริการ 3G ของกลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่ม อีกทั้งยังศึกษาคุณค่าการบริโภคและความพึงพอใจในการใช้บริการ 3G ที่ผู้บริโภคมีต่อผู้ให้บริการเครือข่าย 3G ผลการศึกษาการจำแนกกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้บริการ 3G ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าสามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคได้เป็น 5 กลุ่มตามเกณฑ์คุณค่าการบริโภคของการใช้บริการ 3G ได้แก่ กลุ่มคุณค่ารอบด้าน กลุ่มคุณค่าทางอารมณ์และสังคม กลุ่มประสิทธิภาพการใช้งาน กลุ่มการให้บริการของพนักงาน และกลุ่มไม่เน้นคุณค่า โดยผู้บริโภคกลุ่มคุณค่ารอบด้านมีพฤติกรรมการใช้บริการ 3G ที่หลากหลายมากกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่าคุณค่าในการใช้งานด้านคุณภาพเครือข่ายและด้านราคามีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการใช้บริการ 3G ของผู้บริโภคมากที่สุด รองลงมาคือคุณค่าทางอารมณ์ ผลการศึกษาของโครงการวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อให้สอดคล้องกับผู้บริโภคที่มีคุณค่าการบริโภคที่แตกต่างกัน
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยน และเงินยูโร ภายหลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว โดยใช้แบบจำลอง Sticky price monetary model วิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณเงินโดยเปรียบเทียบ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ และระดับรายได้โดยเปรียบเทียบ โดยทำการศึกษาระหว่างเดือนกรกฎาคม 2540 - ธันวาคม 2554 วิธีการศึกษา แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกทำการทดสอบความนิ่งของข้อมูลโดยใช้วิธี Unit root test ผลการทดสอบ คือ ตัวแปรในแบบจำลองมีทั้ง Stationary at level, First difference และ Second difference ทำให้ทราบถึงช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวแปรแต่ละตัว ในส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในระยะยาวของตัวแปรโดยใช้วิธี Cointegration ผลการทดสอบพบว่า กรณีค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีความสัมพันธ์ในระยะยาวและตัวแปรในแบบ จำลองมีนัยสำคัญทุกตัว โดยช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคือช่วงเดือนพฤศจิกายน 2543 ส่วนกรณีค่าเงินบาทต่อเงินเยนมีความสัมพันธ์ในระยะยาว แต่มีเพียงตัวแปรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มีนัยสำคัญและไม่เป็นไปตามทฤษฏี โดยช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคือช่วงเดือนตุลาคม 2550 กรณีสุดท้ายค่าเงินบาทต่อยูโร ผลการศึกษาพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ในระยะยาว