การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและปริมาณการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อมในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการกำกับดูแลกิจการกับปริมาณการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อมในรายงานประจำปี ประชากรในการศึกษาครั้งนี้คือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน การศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 80 บริษัท โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า หัวข้อความหลากหลายทางชีวภาพมีปริมาณการเปิดเผยข้อมูลจำนวนคำมากที่สุดของทุกปี รองลงมา คือ การปล่อยก๊าซ น้ำทิ้ง และของเสีย ส่วนหัวข้อที่มีการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2556 การศึกษาพบว่าปริมาณการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ขนาดของคณะกรรมการ สัดส่วนของคณะกรรมการอิสระ และประเภทของอุตสาหกรรม มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อปริมาณการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อม คำสำคัญ: การกำกับดูแลกิจการ และการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยนี้ได้ใช้ข้อมูลที่มีความถี่และฐานข้อมูลต่างจากงานวิจัยในอดีต ผลการวิจัยไม่พบความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างการเปลี่ยนแปลงราคาของอสังหาริมทรัพย์และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยที่ผ่านมา โดยทั่วไปแล้ว พบว่าค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ระหว่างอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นสามัญมีค่าต่ำ นอกจากนี้ความสัมพันธ์เชิงพลวัตแบบมีเงื่อนไขแสดงค่าความสัมพันธ์ที่เป็นลบระหว่างทาวน์เฮ้าส์และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงคอนโดมิเนียมและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลการศึกษานี้ชี้ว่าอสังหาริมทรัพย์อาจเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงในการกระจายการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ได้เป็นอย่างดี
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจผู้บริโภคคนไทยต่ออาหารเกษตรอินทรีย์ทั้งทางด้านทัศนคติ ความตั้งใจและพฤติกรรมการซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยจำนวน 437 คน สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยนี้ใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์องค์ประกอบ และทดสอบสมมติฐานด้วยการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงเส้น ซึ่งผลลัพธ์จากการวิจัยพบว่า 1) ทัศนคติของผู้บริโภคต่ออาหารเกษตรอินทรีย์แบ่งออกได้เป็น 3 องค์ประกอบคือ องค์ประกอบด้านความปลอดภัยและสุขภาพ องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของสัตว์ และองค์ประกอบด้านแหล่งกำเนิดท้องถิ่น 2) องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของสัตว์ส่งผลต่อความตั้งใจในการซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ของผู้บริโภคมากที่สุด ตามด้วยองค์ประกอบด้านความปลอดภัยและสุขภาพ และองค์ประกอบด้านแหล่งกำเนิดท้องถิ่น 3) ความตั้งใจในการซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ของผู้บริโภคส่งผลเชิงบวกต่อพฤติกรรมการซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ สำหรับการทดสอบปัจจัยส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่างด้วยสถิติ t-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแสดงว่าการรู้จักอาหารเกษตรอินทรีย์จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความตั้งใจในการซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ ขณะที่ความยินดีในการจ่ายสำหรับอาหารเกษตรอินทรีย์มีค่ามากกว่าอาหารปกติที่ค่าเฉลี่ยมากขึ้นร้อยละ 27 ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยสามารถนำไปใช้ในการวางแผนและส่งเสริมการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยการสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ต่ออาหารเกษตรอินทรีย์ในทัศนคติทั้ง 3 ด้านผ่านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลต่อความตั้งใจและพฤติกรรมในการซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้การกำหนดราคา การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย รวมถึงการจัดหาผลผลิตทางเกษตรอินทรีย์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด ก็จะเป็นการส่งเสริมปริมาณความต้องการอาหารเกษตรอินทรีย์ และเป็นแรงกดดันต่อเกษตรกร ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในการขยายพื้นที่การเพาะปลูกและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารเกษตรอินทรีย์ให้มีมากขึ้นภายใต้หลักการและแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป คำสำคัญ: อาหารเกษตรอินทรีย์ ทัศนคติ ความตั้งใจ พฤติกรรม ความยั่งยืน
ภาคเอกชนและรัฐของไทยต้องปรับตัวต่อการเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้บริหารธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมล้วนต้องการใช้ข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแตกต่างกัน การศึกษานี้ใช้การสนทนากลุ่มกับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อรับทราบข้อมูลที่ภาคธุรกิจต้องการ คณะผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาและจัดหมวดหมู่ข้อมูล โดยข้อมูลที่ผู้บริหารต้องการในการทำธุรกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคำถามสำหรับข้อมูลระดับมหภาค และกลุ่มคำถามสำหรับข้อมูลระดับอุตสาหกรรม ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 12 สาขาย่อย ตามที่อาเซียนกำหนดให้เป็นสาขาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญในลำดับสูง ผลการศึกษา พบว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระดับมหภาคและอุตสาหกรรมดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการทำธุรกิจในอาเซียน ประเทศไทยต้องจัดตั้งศูนย์กลางเพื่อให้บริการข้อมูลธุรกิจอัจฉริยะสำหรับผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนได้ประสบผลสำเร็จ คำสำคัญ: คำถามสำคัญ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้บริหาร ข้อมูล
หลักฐานเชิงประจักษ์ของประเทศที่พัฒนาแล้วได้แสดงให้เห็นว่าการมีธรรมาภิบาลส่งผลให้การจัดการกำไรลดลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่มีประสิทธิภาพของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในตลาดเกิดใหม่ การจัดการกำไรของบริษัทสามารถถูกใช้เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการทำให้คุณภาพของข้อมูลข่าวสารดีขึ้นได้ งานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาว่าธรรมาภิบาลส่งผลต่อการจัดการกำไรของบริษัทหรือไม่ในตลาดเกิดใหม่โดยใช้ข้อมูลประเทศไทยปี 2545 – 2554 ที่ได้มีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลเป็นกรณีศึกษา ผลจากสมการถดถอยกำลังสองน้อยที่สุดสองขั้นแสดงให้เห็นว่าคุณลักษณะด้านธรรมาภิบาล อันได้แก่ คณะกรรมการที่มีความชำนาญด้านบัญชีหรือการเงิน การแยกบทบาทของประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ และบริษัทครอบครัว มีความสัมพันธ์กับการลดลงของการจัดการกำไร ในขณะที่จำนวนคณะกรรมการที่มากขึ้นและสัดส่วนของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารที่สูงขึ้นมีผลทำให้มีการจัดการกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เราพบว่ากลุ่มหลักทรัพย์ที่จัดตามการซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลวงในและการจัดการกำไรสามารถให้อัตราผลตอบแทนที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับปรุงอัตราผลตอบแทนดังกล่าวด้วยความเสี่ยงแล้วกลับไม่ปรากฎผลตอบแทนที่ผิดปกติอันแสดงถึงความประสิทธิภาพในการกำหนดราคา ผลการศึกษานี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคำโต้แย้งในด้านประสิทธิภาพของธรรมาภิบาลในตลาดเกิดใหม่ การนำไปใช้เชิงนโยบายที่เป็นไปได้ต่อผู้กำหนดกฎเกณฑ์ตลาดคือธรรมาภิบาลสามารถเพิ่มคุณภาพทางข้อมูลข่าวสารของกำไร คำสำคัญ: ธรรมาภิบาล การจัดการกำไร ตลาดเกิดใหม่ การซื้อขายหุ้นโดยบุคคลวงใน ความอสมมารตรทางข้อมูล