การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตอบสนองของราคาหุ้นต่อคำแนะนำของนักวิเคราะห์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยศึกษาคำแนะนำของนักวิเคราะห์สำหรับหลักทรัพย์ในดัชนี SET100 จากบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่โดย 19 บริษัทหลักทรัพย์ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2557 จำนวนทั้งหมด 1,448 บทวิเคราะห์ ผลการศึกษา พบว่า คำแนะนำของนักวิเคราะห์ให้ซื้อ/ซื้อเพื่อลงทุน ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนคำแนะนำให้ ซื้อเก็งกำไร/ซื้อเมื่ออ่อนตัว ถือ/เต็มมูลค่า และคำแนะนำให้ขาย/ลดการถือ ทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ยังพบว่าการตอบสนองของราคาหุ้นต่อคำแนะนำของนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ต่างกัน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรมีความเกี่ยวพันกับการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่รู้จักกันในชื่อเรียกว่าเจนวายนั้น มีความใส่ใจมากในประเด็นดังกล่าว ดังนั้นการศึกษานี้จึงเน้นที่จะค้นหาในเรื่องการรับรู้ของกลุ่มเจนวายเกี่ยวกับกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และเข้าใจถึงระดับความสำคัญในความคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ ที่มีต่อกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร รวมถึงการศึกษานี้ยังสามารถช่วยให้การนำกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลอีกด้วย โดยขอบเขตของการวิจัยนั้น จะใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิตของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีการใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง โดยเมื่อกล่าวถึงผลวิจัยเชิงประจักษ์ กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่มีความสำคัญสูงมาก ประกอบด้วย การลดมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม การดำเนินการตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส การให้ข้อมูลลูกค้าอย่างชัดเจน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และ การตั้งราคาผลิตภัณฑ์/บริการที่เหมาะสม ซึ่งก็มีความสอดคล้องกับผลจากการวิเคราะห์ปัจจัย ว่า กลุ่มของกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับ การมุ่งเน้นปกป้องสิ่งแวดล้อม และการมุ่งเน้นลูกค้า ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับเจนวาย องค์กรธุรกิจจึงควรมุ่งเน้นที่กลยุทธ์ดังกล่าว เพื่อที่จะได้รับความสนใจและการยอมรับจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็มีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของเจนวายที่ใส่ใจในธรรมชาติและมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ดังนั้นองค์กรที่ผนวกแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกลยุทธ์และสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีการสื่อสารผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่และสื่อทางสังคมต่างๆ จึงน่าจะดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งก็จะทำให้องค์กรได้รับการยอมรับจากกลุ่มเจนวายนี้ได้ในที่สุด
ทฤษฎีการลงทุนแบ่งประเภทหลักทรัพย์เป็นสองกลุ่มใหญ่คือหลักทรัพย์ตามคุณค่าและหลักทรัพย์ตามการเติบโต กลุ่มหลักทรัพย์ตามคุณค่าถือเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูงสำหรับนักลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตามยังไม่มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าประสิทธิภาพกลุ่มหลักทรัพย์นี้แตกต่างจากกลุ่มหลักทรัพย์อื่นอย่างไร และในสถานการณ์การลงทุนที่แตกต่างกัน กลุ่มหลักทรัพย์คุณค่าจะมีผลการลงทุนอย่างใดงานวิจัยนี้ได้ตั้งคำถามสำคัญว่าหลักทรัพย์กลุ่มใดเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพด้วยการวัดผลตอบแทนส่วนเกินปกติจากที่ได้รับตามแบบจำลองสี่ปัจจัย กลุ่มหลักทรัพย์ในการวิจัยประกอบด้วยกลุ่มหลักทรัพย์คุณค่ากลุ่มหลักทรัพย์เติบโตที่สร้างขึ้นโดยใช้ อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นเป็นเกณฑ์การแบ่ง การเปรียบเทียบยังได้ทดสอบกับกลุ่มหลักทรัพย์ที่สร้างขึ้นอย่างง่ายโดยการสุ่มเลือกหลักทรัพย์ขึ้นมาผลการเปรียบเทียบประสิทธิภาพกลุ่มหลักทรัพย์แสดงให้เห็นว่ากลุ่มหลักทรัพย์คุณค่าและหลักทรัพย์เติบโตไม่มีความแตกต่างกันและไม่ได้แตกต่างจากหลักทรัพย์ที่ได้สุ่มเลือกอย่างง่าย เมื่อทดสอบผลการลงทุนของหุ้นทั้งสามกลุ่มในสถานการณ์การลงทุนที่แตกต่างกันคือในสภาวะตลาดทุนซบเซา ภาวะตลาดเติบโตสูง และภาวะตลาดทรงตัว โดยใช้วิธีการทดสอบตาม Newey-West standard error correction พบว่ากลุ่มหุ้นคุณค่าได้รับผลตอบแทนเกินปกติที่มีนัยสำคัญทางสถิติได้เพียงกรณีเดียวที่ตลาดปรับตัวสูง และหุ้นเติบโตมีผลตอบแทนที่เกินปกติได้ในช่วงตลาดซบเซา ผลของการวิจัยแสดงให้เห็นว่ากลุ่มหลักทรัพย์คุณค่าไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ากลุ่มหลักทรัพย์เติบโตและกลุ่มหลักทรัพย์ที่สร้างขึ้นอย่างง่ายทุกช่วงเวลาของการทดสอบ การยึดถือว่าหุ้นคุณค่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมในการลงทุนทุกสถานการณ์จึงไม่ควรเป็นกลยุทธิการลงทุนที่เหมาะสม
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบจากความก้าวร้าวของลูกค้าที่มีต่อการรับมือและนำไปสู่ความเครียดของพนักงานบริการส่วนหน้า นอกจากนี้ยังศึกษาผลการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางสังคมของพนักงานบริการส่วนหน้าและความก้าวร้าวของลูกค้าที่มีต่อการรับมือแบบมุ่งเน้นการจัดการอารมณ์ประเภทต่างๆ โดยศึกษาจากพนักงานบริการส่วนหน้าของกิจการค้าปลีกจำนวน 327 คน ในเขตภาคเหนือทีมีประสบการณ์การให้บริการลูกค้าที่ก้าวร้าว เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามด้วยการขอให้ผู้ตอบแบบสอบถามระลึกถึงเหตุการณ์ที่เขาเผชิญกับความก้าวร้าวของลูกค้าเพียงเหตุการณ์เดียว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสมการโครงสร้างและการวิเคราะห์การถดถอยเพื่อทดสอบผลปฏิสัมพันธ์ ผลการวิจัยพบว่าความก้าวร้าวของลูกค้าส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการรับมือ (การแสวงหาแรงสนับสนุนทางด้านจิตใจ การควบคุมตนเอง การหลีกเลี่ยง) การรับมือแบบการแสวงหาแรงสนับสนุนทางด้านจิตใจ การหลีกเลี่ยงมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อความเครียด ขณะที่การรับมือแบบควบคุมตนเองมีความสัมพันธ์บางส่วนต่อความเครียดของพนักงาน นอกจากนี้การทดสอบผลปฏิสัมพันธ์พบว่าถ้าพนักงานบริการรับรู้ว่าตนเองมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าลูกค้า เมื่อต้องเผชิญกับความก้าวร้าวของลูกค้าพนักงานบริการส่วนหน้าจะเลือกใช้วิธีการรับมือที่มุ่งเน้นอารมณ์ แบบการแสวงหาแรงสนับสนุนทางจิตใจ และการควบคุมตนเองน้อยลง ในขณะที่พนักงานบางส่วนไม่ปฏิเสธการรับมือแบบการหลีกเลี่ยงเมื่อให้บริการลูกค้าที่ก้าวร้าว
การนำงานศิลปะเข้ามาช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์และตกแต่งสถานที่ให้บริการ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่นักการตลาดใช้ และปัจจุบันร้านค้าปลีกหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศได้นำผลงานศิลปะหลากหลายแขนงมาแสดงเพื่อใช้ดึงดูดลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน อย่างไรก็ดี งานวิจัยเพื่อศึกษาประโยชน์ของการแสดงผลงานศิลปะในร้านค้าปลีกยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และยังไม่มีนิยามและองค์ประกอบของศิลปะที่ชัดเจน บทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการศึกษาประโยชน์ของผลงานศิลปะแบบวิจิตรศิลป์ในร้านค้าปลีก โดยคณะผู้วิจัยได้ทบทวนงานวิจัยในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบรรยากาศของร้านค้าปลีก อ้างอิงแนวคิดทางด้านศิลปะ และแนวคิดด้านประโยชน์ของแบรนด์ อันนำไปสู่การเสนอแบบจำลองอิทธิพลของงานวิจิตรศิลป์ภายในร้านค้าปลีกที่มีต่อการรับรู้ประโยชน์หรือคุณค่าของร้านค้า และการตอบสนองของลูกค้าที่มีต่อร้านค้า