วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ คือ เพื่อสืบค้นเกี่ยวกับอิทธิพลของการใช้มันสำปะหลังในกระบวนการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่อการลดอุปทานส่วนเกิน และการเพิ่มระดับราคาของมันสำปะหลังในประเทศไทย โดยปกติจะใช้เอทานอลลบริสุทธิ์ความเข้มข้น 99.5 เปอร์เซ็นต์ทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) (ซึ่งสารตัวนี้ปกติใช้สำหรับเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันแก๊สโซลีน) เพื่อผสมกับน้ำมันแก๊สโซลีน (น้ำมันเบนซิน) ในอัตราส่วน 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทน 95 ซึ่งวัตถุดิบที่สามารถใช้ในการผลิตเอทานอลมีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ อ้อย กากน้ำตาล มันสำปะหลัง มันเทศ มันฝรั่ง ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวฟ่างหวาน เป็นต้น ปัจจุบันวัตถุดิบที่นิยมใช้ในการผลิตเอทานอลภายในประเทศไทย ได้แก่ กากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ประเทศไทยได้นำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกมานานกว่า 200 ปีแล้ว โดยได้มีการปลูกในเชิงพาณิชย์มา กว่า 70 ปี และเนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สามารถปลูกกระจายได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังสูงสุดในประเทศ ในหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทย นิยมใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล (มันสำปะหลัง 1 ตันสามารถผลิตเอทานอลได้ 180 ลิตร) เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยพบว่าสามารถลดอุปทานส่วนเกินของมันสำปะหลังในท้องตลาดลงได้มาก อีกทั้งส่งผลทำให้ระดับราคาของมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย หากเลิกใช้แก๊สโซลีน 91 และ 95 และใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลเป็นส่วนผสมในอัตราส่วนที่สูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเชื้อเพลิงทดแทน
พนักงานมีความแตกต่างกันในแง่ของการมองความสำเร็จของอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกอธิบายไว้ในแนวคิดของแนวทางอาชีพภายใน (internal career orientations) การศึกษานี้ได้ศึกษาผลของแนวทางอาชีพภายในที่มีต่อความผูกพันต่อองค์กร (organizational commitment) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลมาจากผู้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจ (MBA) ภาคนอกเวลาราชการในประเทศไทย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าแนวทางอาชีพภายในไม่เพียงแต่แสดงถึงคุณค่าพื้นฐานที่แต่ละคนมีในการทำงานเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความผูกพันขององค์กรอีกด้วย กล่าวคือ คนที่มีแนวทางอาชีพภายในที่ต่างกันจะมีระดับของความผูกพันต่อองค์กรแตกต่างกันออกไป โดยคนที่มีแนวทางอาชีพภายในที่เน้นความมั่นคง (Getting Secure) จะมีระดับความผูกพันต่อองค์กรสูงสุด สำหรับคนที่มีแนวทางอาชีพภายในที่เน้นความท้าทาย(Getting High) และเน้นความอิสระ (Getting Free) จะมีความผูกพันต่อองค์กรในระดับกลาง ในขณะที่คนที่มีแนวทางอาชีพภายในที่เน้นความก้าวหน้า (Getting Ahead) และเน้นความสมดุล (Getting Balanced) จะมีระดับความผูกพันต่อองค์กรต่ำสุด นอกจากนี้ ในการศึกษายังได้แสดงการนำไปใช้ในการจัดการและการวิจัยในอนาคตไว้ด้วย
การวิจัยเรื่องปัจจัยของหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณกลุ่มจังหวัดชุมพร ระนองและสุราษฎร์ธานีมีวัตถุประสงค์ศึกษาคุณลักษณะทั่วไปของหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ศึกษาระดับความร่วมมือของหุ้นส่วนเศรษฐกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณกลุ่มจังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี ศึกษาปัจจัยของหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณกลุ่มจังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณผสมผสานกับงานวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งได้จากการสร้างแบบสอบถาม และการสร้างแบบสัมภาษณ์ จากหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มภาครัฐ กลุ่มภาคธุรกิจ และกลุ่มภาคประชาชน เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจำนวน 400 ตัวอย่าง และเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจากแบบสัมภาษณ์จำนวน 60 ตัวอย่างด้วยวิธีพบปะบังเอิญและเฉพาะเจาะจง สถิติที่ใช้ประกอบด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทั้งนี้ทำการทดสอบความสัมพันธ์ด้วยค่า ไคสแควร์ ซึ่งผลวิจัยมีดังนี้ 1. คุณลักษณะทั่วไปของหุ้นส่วนเศรษฐกิจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นตัวแทนในการศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุ 21-30 ปี สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา นับถือศาสนาพุทธ เป็นโสด มีขนาดครัวเรือน 3-4 คน ประกอบอาชีพอยู่ในภาคประชาชน รองลงมาเป็นภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่มิได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือชมรมในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยแต่ประการใด 2. ระดับความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจของหุ้นส่วนเศรษฐกิจบริเวณกลุ่มจังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี ใน 12 ด้าน พบว่าหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มภาครัฐ กลุ่มภาคธุรกิจและกลุ่มภาคประชาชนมีส่วนช่วยหรือร่วมมือกันช่วยพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.85 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.03 ทั้งนี้หุ้นส่วนเศรษฐกิจทำการพัฒนาเศรษฐกิจด้านคุณภาพชีวิตมากที่สุด รองลงมาทำการพัฒนาเศรษฐกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านกฎระเบียบข้อบังคับ ด้านประชากรและแรงงานโดยหุ้นส่วนเศรษฐกิจทำการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและบริการในลำดับท้ายสุด 3. ปัจจัยคุณลักษณะทั่วไปของหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณกลุ่มจังหวัดชุมพร ระนองและสุราษฎร์ธานี ผลการทดสอบ สมมุติฐาน พบว่า อายุ และระดับการศึกษาของหุ้นส่วนเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนขนาดครัวเรือน ลักษณะการประกอบอาชีพ และระยะเวลาการอยู่อาศัยของหุ้นส่วนเศรษฐกิจไม่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่กลุ่มจังหวัดดังกล่าว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4. ข้อค้นพบของการวิจัยครั้งนี้คือหุ้นส่วนเศรษฐกิจมิได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการบริการอย่างที่ควรจะเป็นแต่กลับได้รับการพัฒนาในอันดับท้ายสุดทั้งๆ ที่ประเทศไทย และภาคใต้ของไทยปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการค้า การลงทุนการท่องเที่ยวและการบริการในอันดับต้นๆ ของการพัฒนา แสดงให้เห็นถึงการขาดความร่วมมือกันอย่างจริงจังของหุ้นส่วนเศรษฐกิจบริเวณกลุ่มจังหวัดดังกล่าว
งานวิจัยนี้จึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินในองค์การธุรกิจไทยที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ผลจากการสำรวจพบว่า ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 จะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลง รวมทั้งฐานะทางการเงินจะลดลงในไตรมาศสุดท้ายด้วย ซึ่งการที่ฐานะทางการเงินที่ลดลงจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิ และการจ่ายเงินปันผล โดยที่กำไรสุทธิจะลดลงและการจ่ายเงินปันผลก็จะลดลง สำหรับการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดหุ้นไทย พบว่า ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน เห็นว่า ดัชนี SET ในสิ้นปี 2550 นี้ น่าจะอยู่ที่ระหว่าง 851- 900 จุด และมีโอกาสสูงสุดถึงระดับ 1000 จุด และดัชนีคาดหวังว่าจะเป็นไปมากที่สุดโดยเฉลี่ย คือระดับ 823.30 จุด ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการคอรัปชั่นในภาครัฐและภาคเอกชน ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินมีความเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีปัญหาการคอรัปชั่นลดลง และมีความโปร่งใสมากกว่ารัฐบาลชุดเดิม สำหรับในภาคเอกชน มีความเห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นและบรรษัทธรรมาภิบาลไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การประมาณค่าของพารามิเตอร์ในฟังก์ชันการแจกแจงความน่าจะเป็น เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของการอนุมานเชิงสถิติ ซึ่งอาจจะทำการประมาณค่าแบบจุดหรือประมาณค่าแบบช่วง การประมาณค่าพารามิเตอร์แบบจุดมีหลายวิธีการ วิธีเบส์เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันมาก แต่หลายกรณีจะมีความยากมากที่จะหาตัวประมาณเบส์หรือค่าประมาณเบส์ด้วยวิธีการเชิงวิเคราะห์ เช่น แคลคูลัส และพีชคณิตเชิงเส้น จำเป็นต้องใช้วิธีการประมาณ เช่น วิธีเชิงตัวเลข และวิธีการจำลอง เป็นต้น ดังนั้นในบทความนี้ขอนำเสนอการหาค่าประมาณเบส์ด้วยวิธีการประมาณที่เป็นการจำลองมอนติคาร์โล (Monte Carlo simulation) โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างหรือการจำลองข้อมูลแบบที่เรียกว่าการสุ่มตัวอย่างแบบกิบส์ (Gibbs sampling) ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่รู้จักกันดีในวิธีมอนติคาร์โลลูกโซ่มาร์คอฟ (Markov chain Monte Carlo (MCMC) methods)
งานวิจัยนี้ศึกษาถึงผลกระทบของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในองค์กร ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นผ่านแบบสอบถามจากบุคคลากรจำนวน 606 คนจาก 18 องค์กร ผลการวิจัยพบว่าองค์กรที่มีแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในด้านต่างๆ อาทิ การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรที่เข้มข้น การฝึกอบรมและพัฒนาที่มีประสิทธิผล การประเมินผลงานที่ชัดเจน และระบบผลตอบแทนที่จูงใจจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการเรียนรู้ในองค์กรของบุคลากรได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้กระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและพฤติกรรมการใฝ่รู้ของบุคลากรจะมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน อาจจัดประเภทเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สามารถระบุได้ เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ไม่สามารถระบุได้ เช่น ค่าความนิยม ซึ่งสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์แน่นอน ให้ตัดจำหน่ายตามอายุการใช้งานและประเมินการด้อยค่า โดยเริ่มตัดจำหน่ายเมื่อสินทรัพย์นั้นพร้อมจะให้ประโยชน์ได้ ตลอดอายุการให้ประโยชน์ และต้องใช้วิธีเส้นตรงในการตัดจำหน่าย หากไม่สามารถกำหนดรูปแบบได้อย่างน่าเชื่อถือ และต้องทบทวนวิธีและระยะเวลาการตัดจำหน่ายทุกงวดปีบัญชีเป็นอย่างน้อย ส่วนสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ไม่มีอายุการให้ประโยชน์แน่นอน ไม่ต้องตัดจำหน่าย แต่ต้องประเมินการด้อยค่า มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 51 กำหนดให้กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเมื่อเริ่มแรกด้วยราคาทุน แต่ถ้าผู้ซื้อไม่สามารถวัดมูลค่าราคาทุน (มูลค่ายุติธรรม) ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้มาจากการรวมธุรกิจที่เป็นการซื้อได้อย่างน่าเชื่อถือ หรือไม่เป็นไปตามคำนิยามและเกณฑ์การรับรู้ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ผู้ซื้อต้องไม่รับรู้สินทรัพย์นั้นเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนแยกต่างหาก ให้บันทึกรวมไว้กับค่าความนิยม สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดขึ้นภายในให้แบ่งออกเป็นขั้นตอนการวิจัยซึ่งต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย และขั้นตอนการพัฒนาให้บันทึกเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เมื่อมีความเป็นไปได้ทางเทคนิคที่จะทำให้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนเสร็จสมบูรณ์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ หรือนำมาขาย หากกิจการไม่สามารถแยกขั้นตอนดังกล่าวออกจากกันได้ กิจการต้องถือว่ารายจ่ายของโครงการภายในที่ก่อให้เกิดสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการวิจัยเท่านั้น ส่วนการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้เมื่อเริ่มแรก กิจการสามารถเลือกใช้วิธีราคาทุน หรือวิธีตีราคาใหม่ในการแสดงมูลค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ตามที่มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้กำหนดไว้
หลายปีที่ผ่านมากิจการได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในการให้การตอบสนองความต้องการของผู้บริหาร การบัญชีบริหารก็เช่นเดียวกันพยายามที่จะพัฒนาให้ควบคู่กับความต้องการของผู้บริหารที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้สังเกตการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติการบัญชีบริหารในประเทศไทยอย่างยาวนาน การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบัญชีบริหารในประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 420 แห่ง โดยส่งแบบสอบถามไปยังผู้บริหารเกี่ยวกับการบัญชี การวิเคราะห์ครั้งนี้ใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนา และอุปมาในการวิเคราะห์ข้อมูล ถึงแม้ว่าอัตราการตอบกลับจะต่ำ การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจกล่าวโ ดยรวมแล้วผลการศึกษาคล้ายคลึงกับการศึกษาในลักษณะเดียวกับในอดีต กล่าวคือการบัญชีบริหารยังคงเป็นแบบดั้งเดิม (Traditional Managerial Accounting) ต้นทุนรวม (Full Costing) เป็นสิ่งที่นิยมใช้กันมาก ในขณะเดียวกันวิธีต้นทุนผันแปร (Variable Costing) ไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ายังคงใช้ระบบบัญชีแบบดั้งเดิม บริษัทหลายแห่งพยายามที่จะประยุกต์แนวคิดการบัญชีบริหารในหลายรูปแบบนอกจากนั้นการวิเคราะห์ยังพบอีกว่าหากมีความแตกต่างกันในอุตสาหกรรมการปฏิบัติทางการบัญชีบริหารจะแตกต่างกัน การศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการนำการบัญชีบริหารไปใช้ขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายบริหารระบบสารสนเทศที่ใช้ในการสนับสนุน และความร่วมมือของพนักงาน ผลการศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่าการพัฒนาการบัญชีบริหารยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการช่วยเหลือฝ่ายบริหารที่มุ่งเน้นในการบริหารงานแบบการเพิ่มคุณค่า
ธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลที่ดี เป็นเรื่องที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินงานขององค์กร หน่วยงานต่าง ๆของเอเชีย ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาย้อนไปก่อนพ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชีย แนวคิดของธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพิจารณาถึงความหมาย แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลของประเทศ ในเอเชีย ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างระหว่างกันเพียงใด อีกทั้งเปรียบเทียบไปถึงมาตรฐานและแนวปฏิบัติของสากลอีกด้วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วบทความต้องการชี้ให้เห็นว่า ธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นเรื่องที่ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรม ทัศนคติ และความเชื่อของสังคมนั้น มาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีของสากล บางอย่างอาจเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศในเอเชีย ดังนั้น การสร้างธรรมาภิบาลของเอเชียและหรือของประเทศต่าง ๆ จึงสมควรที่จะให้ความสำคัญ ต่อการมุ่งสู่การได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมกับการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติที่ดีดั้งเดิมของตน
บทความนี้เป็นการศึกษาตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศจีน เพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคพลอยสีที่เป็นพลอยเนื้อแข็งจำพวกทับทิมและแซปไพร์ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ หนึ่ง เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางการค้าและพฤติกรรมการบริโภคพลอยเนื้อแข็งจำพวกทับทิมและแซปไฟร์ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน สอง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบธุรกิจพลอยสีของไทยในการรุกเข้าสู่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีน และ สาม เพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมสำหรับการรุกเข้าสู่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษา พบว่าความนิยมพลอยสีในตลาดจีนเริ่มลดลงตามลำดับนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ที่ เดอ เบียร์ส บริษัทผู้ค้าเพชรรายใหญ่ของโลกได้เริ่มรุกเข้าสู่ตลาดจีน อีกทั้งได้มีการทำประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของเครื่องประดับพลอยสีในประเทศจีนเหลืออยู่เพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น อย่างไรก็ดี จากการสำรวจตลาดในประเทศจีน พบว่ายังมีความต้องการพลอยสีที่แฝงเร้นอยู่มาก การศึกษานี้จึงได้เสนอแนะกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับเครื่องประดับพลอยสี รวมทั้งกำหนดกลยุทธ์การกระตุ้นความต้องการบริโภคพลอยสีในประเทศจีน
งานวิจัยนี้ศึกษาปัจจัยในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ทัศนคติ และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในเขตกรุงเทพมหานคร อันเป็นผลมาจากจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองโดยเป็นกรณีศึกษา ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง 2550 ผลวิจัยด้านความไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพมหานครพบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รับรู้ว่าเกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย อย่างไรก็ดีนักท่องเที่ยวที่รับรู้ว่ามีความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เห็นว่าเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ทางด้านทัศนคติและความพึงพอใจพบว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีความเห็นว่าความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยไม่มีความสัมพันธ์กับความรู้ปลอดภัยในการท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด นอกจากนั้นพบว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีความพึงพอใจในการท่องเที่ยว มีความรู้สึกปลอดภัย และความรู้สึกคุ้มค่าในการเข้ามาท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร